วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มาดูกันว่า ฟันคุดทำไมต้องผ่า และมีวิธีดูแลรักษาฟังอย่างไร

ฟันคุดทำไมต้องผ่า
ฟันคุดทำไมต้องผ่า

ฟันคุด คือ ฟันธรรมชาติของเรานี่แหละแต่มันไม่สามารถโผล่พ้นกระดูกและเหงือกขึ้นมา ในช่องปากได้เต็มซี่ สาเหตุที่มันขึ้นไม่ได้มีอยู่หลายประการเช่น มันถูกกีดกันจากฟันข้างเคียง มีกระดูกหรือเหงือกคลุมฟันคุดอยู่หนาจนไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้ หรือเพราะตัวมันนิสัยไม่ค่อยดี ชอบไปมุดหรืออยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ เช่น ขอบล่างของกระดูกขากรรไกรล่าง บางทีไปโผล่อยู่ใต้ กระบอกตา บางทฤษฎีก็ว่าเพราะขนาดของกระดูกขากรรไกรมันเล็กไปทำให้ไม่มีที่พอที่อนุญาต ให้ฟันขึ้นมาครบทั้งสามสิบสองซี่ได้ หรือไม่ก็เป็นฟันเกินซี่ที่สามสิบสาม สามสิบสี่ สามสิบห้า... อย่างไรก็ดีที่เราจะพบฟันคุดเฉพาะฟันที่เป็นฟันแท้เท่านั้น

ฟันคุดที่พบบ่อยที่สุดเห็นจะเป็นฟันคุดของฟันกรามล่างซี่สุดท้าย รองลงมาคือฟันกรามบน ซี่สุดท้าย อีกตำแหน่งที่มักจะพบได้แก่ฟันเขี้ยว นอกจากนั้นฟันเกินก็ยังพบว่าเป็นฟันคุดที่อาจพบ ได้ในเกือบทุกตำแหน่งของกระดูกขากรรไกร บางคนก็ไม่มีฟันคุดหรือมีเฉพาะฟันบนหรือฟันล่าง บ้างก็มีข้างขวา ข้างซ้ายไม่มี เหล่านี้ต้องโทษเรื่องของกรรมพันธุ์ อย่างไรก็ดีฟันกรามซี่สุดท้าย ที่ขึ้นมาได้เต็มซี่สามารถใช้งานได้ ไม่สามารถสร้างปัญหาใดตลอดจนสามารถทำความสะอาดได้ดี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเอาออก

ช่วงอายุที่พบฟันคุดได้บ่อยคือช่วงอายุประมาณ 17-25 ปี ความจริงหลายคนมีฟันคุดตั้งแต่อยู่ในช่วงฟันผสมคือมีทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้ แต่มีฟันแท้บางซี่ที่เป็นฟันคุดเกินอยู่ หนุ่มสาวบางคนมีฟันคุดของฟันกรามซี่สุดท้ายตั้งแต่อายุประมาณ 17 ปีแต่ทั้งหมดนี้ไม่เคยปรากฏอาการ ก็เป็นเรื่องแปลกที่หลายคนมีชีวิตอยู่กับฟันคุดไปจนแก่เฒ่าโดยไม่เคยสร้างปัญหาให้เจ้าของเลย แต่ก็มีกลุ่มชนผู้โชคไม่ช่วยอีกไม่น้อยที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับปัญหาของฟันคุด

ทำไมต้องผ่าฟันคุด....นี่เป็นปัญหาที่ผู้ป่วยสงสัยมากที่สุด ก็อยู่ดีไม่ว่าต้องมาเจ็บตัวแถมเสียสตางค์อีกต่างหาก โดยธรรมชาติของฟันทุกซี่จะพยายามผลักดันตัวมันเองขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์ในช่องปากโดยมีถุงเนื้อที่หุ้มบริเวณหัวฟันเป็นตัวช่วยออกแรง เมื่อสามารถโผล่ขึ้นมาได้ เจ้าถุงนี้ก็จะสลายตัวหมดภาระหน้าที่ไป แต่ถ้ามันขึ้นไม่ได้ด้วยสาเหตุใดก็ตามความพยายามผลักดันตัวมันยังคงอยู่ แรงดันนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดได้ บางครั้งพบว่ากระดูกบริเวณรากฟันซี่ที่ติดกันถูกดันจนละลายตัวไป เนื่องจากฟันคุดบางซี่โผล่ขึ้นมาในช่องปากได้บางส่วนที่เหลืออยู่ใน กระดูกบ้าง ถูกเหงือกคลุมบ้างดังนั้นเศษอาหารและแบคทีเรียชอบที่จะไปซ่อนตัวอยู่บริเวณใต้เหงือกที่คลุมหัวฟันคุดอยู่ซึ่งเป็นที่ที่ทำความสะอาดได้ไม่ถึง จึงมักเกิดการอักเสบ ติดเชื้อที่บริเวณนั้นหรืออาจลุกลามต่อไปยังบริเวณข้างเคียงและใบหน้าได้ ปัญหาฟันข้างเคียงผุก็พบได้บ่อยอันเนื่องมาจากการที่ไม่สามารถทำความสะอาดบริเวณนั้นได้เพียงพอประกอบกับการมีเศษอาหารติดแน่นในที่นั้นได้ง่าย การกลายไปเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกขนาดเล็กหรือใหญ่โตก็พบได้เนื่องจากการเจริญที่ผิดปกติของถุงหุ้มฟันและเนื้อเยื่อของฟันคุดที่เหลืออยู่ นอกจากนั้นฟันคุดยังจะทำให้สถานการณ์แย่ลงในกรณีเกิดการหักบริเวณมุมกระดูกขากรรไกรที่รอยหักมักจะผ่านฟันคุดพอดิบพอดีเนื่องจากกระดูกบริเวณนั้นบางกว่าที่อื่น

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญ ในผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อน ไม่ควรอดนอนในวันก่อนผ่าตัด อย่าอดอาหาร ให้ทานอาหารมาก่อนพออิ่ม ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด งดสูบบุหรี่ แปรงฟันและทำความสะอาดช่องปากมาก่อน ในเด็กหรือผู้สูงอายุควรมีคนมาเป็นเพื่อนด้วย การผ่าฟันคุดไม่ใช่เรื่องใหญ่และทำง่ายที่ โรงพยาบาล คลินิคทันตกรรม ภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ ซึ่งทำได้ทีละซี่หรือหลายซี่ในครั้งเดียวขึ้นกับความยากง่าย และความพร้อมของผู้ป่วย ในกรณีที่ทำยากเช่นฟันคุดอยู่ในบริเวณที่ลึกและไกลมาก หรือในผู้ป่วยที่กลัวและไม่ให้ความร่วมมืออาจพิจารณาทำภายใต้การดมยาสลบ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป การผ่าฟันคุดแต่ละซี่ใช้เวลาประมาณ 10 –30 นาที ขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความร่วมมือของผู้ป่วย ฟันคู่สบมักสร้างปัญหาให้เกิดการอักเสบมากขึ้นเพราะคอยกัดกระแทกบริเวณแผลอยู่ตลอด บ่อยครั้งที่ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันคู่สบออกไปพร้อมกันเพื่อการหายที่ดีของแผลผ่าตัดซี่ตรงข้าม

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดที่ถูกต้องจะช่วยลดปัญหาแทรกซ้อนลงได้มาก ผู้ป่วยต้องกัดผ้าก๊อซแน่น ๆ นิ่ง ๆ ไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดหยุดไหล ระหว่างนั้นให้กลืนเลือดและน้ำลายที่ซึมออกมาทั้งหมด อย่าอมไว้เพราะจะทำให้คลื่นไส้ หลังจากคลายผ้าก๊อซอาจมีเลือดหรือน้ำลายซึมออกมาให้พยายามกลืน ห้ามบ้วนเพราะยิ่งบ้วนเลือดจะยิ่งออก ถ้าเลือดออกมากให้ใช้ผ้าก๊อซสะอาดวางบนแผลแล้วกัดไว้การใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแก้มใน 24 ชั่วโมงแรกจะช่วยลดอาการบวมที่จะเกิดได้ แต่ไม่ควรอมน้ำแข็งเพราะจะทำให้ เลือดไม่หยุดไหล การทำความสะอาดช่องปากเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการหายที่ดีของแผล อาการปวดและบวมจะปรากฏอยู่ 3-4 วัน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการผ่าตัด และสุขภาพตลอดจนการดูแลที่ดีของผู้ป่วย

ปัญหาแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดที่พบบ่อยคืออาการปวดและบวม อาการปวดทุเลาลงได้ด้วยการกินยาระงับปวดทุก 4 ชั่วโมงใน 2 วันแรก วันต่อไปกินเมื่อปวด อาการบวมเกิดจากการอักเสบและมีเลือดดี่งในแผลและเนื้อเยื่อ ซึ่งโดยทั่วไปจะยุบลงใน 3-4 วัน ในกรณีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทันตแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะกินประมาณ 5 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการอ้าปากได้น้อย มีเลือดซึมอยู่หลายวัน ปัญหาการติดเชื้อหลังการผ่าตัดพบได้เนื่องจากการดูแลแผลในปากอาจทำได้ลำบาก บางครั้งมีเศษอาหารตกลงไปในแผลทำให้เกิดการหมักหมมและติดเชื้อตามมา ผู้ป่วยบางรายที่ฟันคุดอยู่ในตำแหน่งที่ลึกและใกล้เส้นประสาทในกระดูกขากรรไกรล่างอาจมีอาการชาบริเวณริมฝีปากเนื่องจากเส้นประสาทดังกล่าวได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาแทรกซ้อนเหล้านี้สามารถถามได้จากทันตแพทย์

ฟันคุดเป็นเรื่องที่ป้องกันและรักษาได้โดยจะมีปัญหาแทรกซ้อนน้อยที่สุดถ้าผู้ป่วยมาพบทันตแพทย์ในเวลาที่เหมาะสม การสอบถามข้อมูลต่าง ๆ จากทันตแพทย์ ความร่วมมือและความพร้อมของผู้ป่วยตลอดจนการให้การรักษาที่เหมาะสมจะทำให้ทั้งผู้ป่วยและทันตแพทย์มีความสุข

ข้อมูลดีๆจาก ศูนย์ทันตกรรมของโรงพยาบาลไทยนครินทร์

ป้ายกำกับ

รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้และเคล็ดลับสุขภาพ ข้อมูลโดยแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ

Recent Posts

Categories

Text Widget

health and care 2day รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ การดูแลรักษาสุขภาพ สาระน่ารู้เรื่องสุขภาพ เพื่อคนรักสุขภาพอย่างคุณ

Blog Archive