คุณแม่ยุคใหม่กับครรภ์คุณภาพ |
วิทยาการรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด คนในสหัสวรรษใหม่เองก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ที่กำลัง จะเป็นคุณแม่ งานต่างๆ ก็ยังคงต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ไหนจะที่ทำงานเอย ไหนจะที่ บ้านเอย” แล้วยังต้องดูแลลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย ดังนั้น เราจะมาคุยกันถึงวิธีที่จะช่วยให้บรรดาว่าที่ คุณแม่ที่เป็น working women ทั้งหลาย สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ โดยเราจะเริ่มกันตั้งแต่
1. ทำอย่างไร.. จะไม่แพ้...ท้อง
- ควรจะรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย งดของทอด มีไขมันมาก หรืออาหารที่มีกลิ่นรุนแรง
เพราะจะทำให้ผะอืดผะอม คลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย
- รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่อาจบ่อยครั้งขึ้น
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรวิตกกังวล
- ถ้าเป็นไปได้ หลังตื่นนอนไม่ควรลุกทันที เพราะอาจจะทำให้รู้สึกเวียนศีรษะ หาเครื่องดื่มร้อน ๆ
ดื่มสักแก้ว (ใช้ว่าที่คุณพ่อก็ได้ค่ะ) แล้วนอนศีรษะสูงต่อสักพัก
- ถ้าอาการรุนแรงมากควรพบแพทย์ค่ะ
2. ถึงท้อง... ก็ทำงานได้ค่ะ
- คุณแม่ที่กำลังอุ้ยอ้ายจะลุกจะนั่งก็ลำบาก ดังนั้นสิ่งที่ควรจำก็คือ ขณะทำงานแต่ละอย่างต้อง
ให้ไหล่ และหลังยืดตรง เพื่อป้องกันการงอของกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหลัง
และท่าทาง สำหรับการทำงานเป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องระมัดระวัง จึงขอแนะนำท่าทางสบาย ๆ
ขณะทำงาน ลองนำไปปฎิบัติดูน่าจะช่วยให้สบายเนื้อสบายตัวขึ้นค่ะ
การนั่งทำงาน นานเกินไปก็ไม่ดี แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรหาเก้าอี้เตี้ย ๆ รองเท้า และจะดีไปกว่านั้น หากมีหมอนหนุนที่คอและหลังด้วย
การยืน ขยับเปลี่ยนท่าทางการยืนบ้าง และถ้าต้องยืนนาน ๆ ควรยกขาขึ้นมาและเคลื่อนไหวข้อเท้า และนิ้วเท้าสักครู่ สลับกันทั้งสองข้าง หรืออาจใส่ถุงเท้ายืด [Elastic stocking] เพื่อป้องกันเส้นเลือดขอด
การยืนทำงาน ควรใช้โต๊ะทำงานที่สูงในระดับที่ยื่นมือแล้วไม่ต้องก้ม จากนั้นก็ยกขาข้างหนึ่ง บนโต๊ะเล็ก ๆ สลับกันไปมาเพื่อลดการตึงเครียดของหลังยกของจากพื้น ไม่ควรก้มหลัง ควรใช้วิธีงอเข่า และสะโพก และไม่ควรยกครั้งละมาก ๆ ควรแบ่งออกทีละน้อย หิ้วของหนัก ไม่ควรหิ้วมือเดียว จะทำให้ ลำตัวเอียงและปวดหลังควรแบ่งออกเป็น 2 ข้าง ถ้าต้องใช้สายตามาก เช่น พิมพ์ดีด อ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อทำงานไปได้สัก 2 ชั่วโมง ควรหยุดพักสัก 15 นาที เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และพักสายตา
การเดินทาง โดยปกติในช่วงไตรมาสสุดท้ายไม่ควรเดินทางไกลเนื่องจากการกระทบกระเทือนจาก การเดินทางอาจกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์ได้ แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ควรเลือกพาหนะและเส้นทางที่กระทบ กระเทือนน้อยที่สุด ก่อนเดินทางก็ควรปรึกษาแพทย์เรื่องของแนวโน้มของการคลอด พร้อมทั้งนำใบฝากครรภ์ไปด้วยค่ะ
3. จากเอว 25 กลายเป็น 35
- เมื่อคุณแม่อุ้ยอ้ายมากขึ้น อาการวิตกกังวล 108 คำถามก็คงจะเกิดขึ้นในใจ เช่น เมื่อไหร่จะคลอด ทำไมวันนี้ลูกเราไม่ดิน... จึงขอให้คุณแม่ทำใจให้สบาย คุณยังสามารถทำงานต่าง ๆ ได้ตามปกติ และมาพบคุณหมอตามนัด
แต่ถ้าคุณมีอาการต่อไปนี้ ให้มาพบแพทย์ทันที
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- มีน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะออกทางช่องคลอด
- มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว มือบวม เท้าบวมฃ
- ปัสสาวะแสบขัด ปวดหลัง มีไข้สูง
- ลูกดิ้นน้อยลงจนผิดสังเกต
- เมื่อไหร่ ... จะถึงวันคลอด
เมื่อใกล้วันครบกำหนดคลอด ถ้าคุณแม่มีอาการต่อไปนี้แล้วละก็เตรียมตัวไปโรงพยาบาล ได้เลยค่ะ
- เมื่อคุณรู้สึกปวดท้อง ท้องแข็งบ่อยสม่ำเสมอ เจ็บมากขึ้น ถี่ขึ้น
- มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
- มีน้ำเดิน ซึ่งเป็นน้ำคร่ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะออกมาทางช่องคลอด อาจจะมีอาการเจ็บครรภ์ร่วมด้วย หรือไม่ก็ได้
เมื่อถึงโรงพยาบาล ว่าที่คุณแม่จะถูกส่งไปที่ห้องรอคลอด และจะได้รับการเตรียมร่างกาย
เพื่อการคลอด เช่น วัดสัญญาณชีพ ฟังเสียงหัวใจของลูก , สวนอุจจาระ , ให้น้ำเกลือ .....
ระหว่างรอคลอด
มดลูกจะบีบรัดตัวเป็นระยะ ๆ เพื่อผลักดันให้ศีรษะลูกเคลื่อนต่ำลง และปากมดลูกก็จะขยายขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเปิด 10 เซนติเมตร ซึ่งการบีบรัดตัวของมดลูกนี้ จะทำให้เกิดการปวดท้องเป็นพัก ๆ เหมือนปวด ประจำเดือน และจะปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ
เจ็บท้องมากแล้ว ... ทำไงดี ...
เราไม่ปล่อยให้คุณเจ็บอยู่คนเดียวแน่ แต่ว่าที่คุณแม่ก็ต้องร่วมมือค่ะ
โดยวิธีธรรมชาติ
การนอน นอนในท่าที่รู้สึกสบาย โดยทั่วไปการนอนตะแคงจะช่วยได้ อีกทั้งการนอนท่านี้ยังช่วย ให้เลือดไปเลี้ยงลูกเราได้ดีขึ้น ด้วยค่ะ
การหายใจ เมื่อมีอาการปวดคุณแม่ควรหายใจเข้าแล้วหายใจออกทางปากยาว ๆ เหมือนเป่าเทียน ทำซ้ำทุกครั้งที่มดลูกหดรัดตัว โดยฝีมือคุณพ่อค่ะ โดยใช้มือนวดบริเวณกระดูกก้นกบ แล้วถูนวดขึ้นลง เมื่อมีอาการเจ็บครรภ์นอกจากจะบรรเทาอาการเจ็บปวดแล้ว กำลังใจยังมาอีกเป็นกองเลยค่ะ
โดยการใช้ยาฉีดแก้ปวด
ถ้าเจ็บท้องมากขึ้น แม้คุณแม่จะพยายามควบคุมความเจ็บปวดแล้ว แต่ยังปวดมากจนทนไม่ได้ คุณหมอจะพิจารณาให้ยาแก้ปวดตามความเหมาะสม
การบล็อกหลัง
คือ การฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง จะทำเมื่อคุณแม่เจ็บครรภ์มากขึ้น ขณะที่ทำคุณแม่ต้องให้ความร่วมมือ โดยเราจะจัะท่านอนให้คุณแม่นอนตะแคง งอเข่า (ลองนึกถึงกุ้งเผาดูสิค่ะ) จะแน่นอึดอัดหน่อยนะคะ จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของวิสัญญีแพทย์ค่ะ
ถึงทีคุณแม่ต้องแสดงฝีมือ
เมื่อปากมดลูกเปิดหมด คุณแม่จะมีอาการปวดถ่วงที่ก้น คล้ายอยากเบ่งถ่าย เราจะเริ่มแนะนำ ให้คุณเบ่งตามจังหวะการหดรัดตัวของมดลูก การเบ่งที่ไม่ถูกวิธีจะทำให้เหนื่อยเปล่า ไม่ได้เห็นหน้าลูกสักที
การเบ่งที่ถูกต้องมีดังนี้
รอเวลาจนมดลูกแข็งตัว แล้วสูดลมหายใจลึก ๆ ให้เต็มปอด พอมดลูกแข็งตัวเต็มที่ ให้ก้มหน้า คางชิดอก ออกแรงเบ่งลงไปที่ก้นเหมือนเบ่งถ่ายอุจจาระ หากรู้สึกหมดลมเบ่ง แต่มดลูกยังแข็งตัว ให้เบ่งซ้ำ จนมดลูกคลายตัว เมื่อมดลูกคลายตัว ให้หายใจยาว ๆ พักเอาแรงไว้สำหรับการเบ่งครั้งต่อไป คลอดเองไม่ได้ทำอย่างไรดี
ถ้าคุณแม่ไม่สามารถคลอดเองได้ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น แรงเบ่งไม่พอคุณหมออาจช่วยคลอดด้วย เครื่องสูญญากาศหรือใช้คีมคลอด ในบางกรณี เช่น รกเกาะต่ำ เชิงกรานแคบ เจ้าตัวน้อยมีขนาดใหญ่ เกินไปคุณหมออาจแนะนำให้คลอดโดยวิธีผ่าออกทางหน้าท้อง แล้วเราก็พบกัน
หลังจากที่ได้รับการดูดมูกออกจากปากและจมูก และเช็ดตัวเรียบร้อยแล้ว พยาบาลจะอุ้มลูกมาให้ ดูทันทีค่ะ คราวนี้คงหายเหนื่อยแล้วนะคะ
เมื่อไหร่..จะได้กลับบ้าน
ถ้าคลอดได้เอง จะอยู่โรงพยาบาล 2-3 วัน แต่ถ้าต้องผ่าตัดออกทางหน้าท้องก็จะอยู่นานประมาณ 4-5 วัน และถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนก็จะกลับบ้านได้พร้อมกันทั้งคุณแม่คุณลูกเลยค่ะ จะเห็นว่าไม่ใช่ เรื่องง่าย ๆ เลย กว่าจะได้อุ้มลูกสมใจ แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่คุณแม่ในสหัสวรรษใหม่จะดูแลสุขภาพ ขณะตั้งครรภ์ และเตรียมตัวเพื่อคลอด เพื่อให้การคลอดครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่มีค่า และได้ของขวัญ เป็นลูกที่น่า รักของเรา
ข้อมูลจากเว็บ โรงพยาบาลไทยนครินทร์