อย่างแรก ก็คือการดูแลทำความสะอาดปากและฟัน เราอาจจะเริ่มทำความสะอาดช่องปากของเด็กได้ ตั้งแต่ในช่วง 2-3 วันหลังแรกเกิด ได้เลย โดยหลังจากการให้นมเด็กแล้วควรจะใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาด ชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดคราบนมและคราบจุลินทรีย์ที่เกาะติดสันเหงือกของเด็ก วิธีนี้จะช่วยให้เด็กมีความคุ้นเคย กับการทำความสะอาดในปาก และไม่ต่อต้านในภายหลัง เมื่อฟันเริ่มขึ้นซึ่งมักจะเป็นช่วงอายุประมาณ 6 เดือน โดยจะมีฟันหน้าขึ้นมาก่อน เราควรจะเริ่มทำความสะอาดฟันที่ขึ้นมาด้วยแปรงสีฟัน โดยควรจะเลือก แปรงที่ออกแบบมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ เพราะจะมีขนาดเล็ก ขนแปรงอ่อนนุ่ม ผู้ปกครองควรแปรงทำ ความสะอาดฟันให้เด็กจนถึงอายุประมาณ 8 ปี เพราะเด็กที่เล็กกว่า 8 ปีมักแปรงฟันทำความสะอาดได้ ไม่ดีพอ แต่เราอาจเริ่มสอนเด็กให้แปรงฟันตั้งแต่อายุ 3 - 4 ปี โดยให้เด็กแปรงและผู้ปกครองตรวจเช็ค และแปรงซ้ำให้อีกครั้ง นอกจากการแปรงฟันทำความสะอาดแล้ว ควรมีการควบคุมอาหารที่รับประทานด้วย อาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสามารถที่จะทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย เช่นเดียวกันกับอาหารพวกแป้ง หรือขนมขบเคี้ยว หรืออาหารที่มีลักษณะเหนียวติดฟันง่าย ยิ่งรับประทานอาหารพวกนี้บ่อยเท่าไร โอกาสที่จะเกิดฟันผุก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากตำแหน่งที่เกิดฟันผุมักเกิดที่บริเวณหลุมร่องฟัน ของฟันกรามหรือฟันหลัง ในปัจจุบันเรามีวัสดุที่สามารถทำการเคลือบผิวที่เป็นหลุมนี้ให้เรียบ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเกาะตัวของอาหาร น้ำตาล และแบคทีเรียที่บริเวณที่เคยเป็นหลุมร่องฟัน และเกิดฟันผุได้ง่าย เนื่องจากบริเวณหลุมร่องฟันเป็นบริเวณที่ยากแก่การทำความสะอาดได้ทั่วถึง แม้ว่าขนแปรงสีฟันที่มีขนาดเล็ก ก็ยังไม่สามารถทำความสะอาดได้ทั่ว หลังจากที่ได้รับการเคลือบ หลุมร่องฟันแล้ว บริเวณนี้จะมีลักษณะเรียบ การทำความสะอาดจะทำได้ง่ายขึ้น โอกาสที่จะเกิดฟันผุ ก็ลดลงมาก
นอกจากการทำเคลือบหลุมร่องฟันแล้ว การใช้ฟลูออไรด์อย่างเหมาะสมก็เป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพ ในการป้องกันฟันผุ การใช้ฟลูออไรด์อาจมีทั้งแบบฟลูออไรด์เสริมสำหรับรับประทาน ซึ่งในกรณีนี้ควรให้ ทันตแพทย์หรือกุมารแพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย และแนะนำให้เนื่องจากในเด็กแต่ละคนและแต่ละช่วงอายุ ควรได้รับในขนาดที่แตกต่างกัน ฟลูออไรด์อีกชนิดหนึ่งคือการเคลือบฟลูออไรด์ ซึ่งจะให้ผลโดยตรงต่อฟัน ที่ขึ้นมาในช่องปากแล้ว วิธีนี้ทันตแพทย์จะเป็นผู้ทำให้ โดยทั่วไปเรามักจะเคลือบฟลูออไรด์ให้เด็กทุก 6 เดือนซึ่งเป็นระยะที่เด็กมารับการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ ส่วนฟลูออไรด์ชนิดที่เรารู้จักคุ้นเคยกันอยู่ แล้วก็ได้แก่ฟลูออไรด์ที่อยู่ในยาสีฟัน แต่การใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ในเด็ก ควรมีข้อควรระวังด้วย เนื่องจากเด็กอาจมีการกลืนยาสีฟันลงไป ซึ่งอาจทำให้ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปอย่างไม่เหมาะสม ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ยังไม่ควรใช้ยาสีฟัน เพราะเด็กยังบ้วนน้ำกลั้วปากไม่ได้ โอกาสที่จะกลืน ยาสีฟันมีมาก ในเด็กอายุ 3-6 ปี ควรเริ่มใช้ยาสีฟันในปริมาณน้อย ๆ เช่น ประมาณเม็ดถั่วเขียว ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการได้รับฟลูออไรด์เกินได้ในกรณีที่เด็กกลืนยาสีฟัน
จากที่กล่าวมาถึงวิธีที่ช่วยป้องกันฟันผุซึ่งได้แก่ การดูแลทำความสะอาดฟัน การควบคุมอาหาร การทำเคลือบหลุมร่องฟัน และการใช้ฟลูออไรด์แล้ว เราควรพาเด็กมาพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 6 เดือน ในบางครั้งฟันผุหรือความผิดปกติในช่องปากและฟันช่วงแรก ๆ จะไม่มีอาการ
แต่อย่างใด ผู้ปกครองเองอาจไม่ทราบว่า เด็กมีฟันผุแล้ว การมาพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้พบสิ่งผิดปกติในระยะแรกซึ่งง่ายต่อการแก้ไข ถ้าปล่อยให้นานขึ้นการรักษาย่อมมีความยากและซับซ้อนขึ้นตามกันไป เด็กอาจมารับการตรวจสุขภาพฟันครั้งแรกได้ หลังจากฟันซี่แรกขึ้นถึง 1 ขวบปีแรก และควรมาเป็นระยะ ๆ ตามที่ทันตแพทย์แนะนำหลังจากนั้น
สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดฟันผุในเด็กเล็กมากก็ได้แก่ การใช้ขวดนมโดยเฉพาะเวลากลางคืน ขณะเด็กหลับ เพราะคราบนมที่ค้างอยู่ตลอดทั้งคืนร่วมกับแบคทีเรียในช่องปากจะทำให้เกิดฟันผุได้ ลักษณะฟันผุประเภทนี้จะพบฟันผุมาก โดยเฉพาะฟันหน้าบน เราไม่ควรให้ขวดนมคาปากของเด็กเวลากลางคืน ก่อนนอนควรทำความสะอาดช่องปากและฟันให้เด็ก ถ้าเด็กติดขวดนมมากอาจเปลี่ยนเป็นขวดที่มีเฉพาะน้ำธรรมดา โดยทั่วไปควรฝึกให้เด็กเริ่มดื่มนมจากแก้ว และควรจะเลิกการใช้ขวดนมไปในช่วง 1 ขวบ ถึง 1 ขวบครึ่ง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดฟันผุชนิดนี้ได้
เมื่อใดก็ตามที่เด็กเริ่มมีฟันผุขึ้นมาแล้ว ซึ่งอาจจะตรวจพบโดยทันตแพทย์หรือผู้ปกครองสังเกตเห็นแล้วพามาพบทันตแพทย์ ฟันที่ผุนั้นควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อมิให้มีความผิดปกติมากขึ้น หรือทำให้เกิดปัญหาตามมาเช่นการปวดฟัน ในกรณีที่เป็นฟันผุระยะเริ่มแรก การรักษาก็อาจจะเป็นการอุดฟัน ซึ่งก็จะมีวัสดุและวิธีการหลาย ๆ แบบแล้วแต่กรณีไป แต่ถ้าการผุได้ลุกลามไปมากแล้วและอาจมีส่วนถึงโพรงประสาทฟัน การรักษาคงต้องทำการรักษาประสาทฟันด้วย การอุดฟันแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และอาจมีอาการปวดฟันและเกิดเนื้อเยื่อบริเวณรอบรากฟันอักเสบรุนแรง ตามมา ในกรณีที่ฟันซี่นั้นมีการผุหลาย ๆ ด้าน ก็อาจจะต้องรักษาด้วยการครอบฟัน การครอบฟันน้ำนมที่ผุหลายด้านนั้น จะมีความคงทนกว่าการอุดฟันหลาย ๆ ด้าน และสามารถที่จะทำให้เสร็จได้ภายในครั้งเดียว ซึ่งจะแตกต่างจากการครอบฟัน ในผู้ใหญ่ ถ้าฟันที่ผุมีการติดเชื้อซึ่งทำให้ปลายรากฟันอักเสบ มีการละลายตัวของกระดูกหุ้มรากฟันมาก อาจต้องพิจารณาถอนฟันซี่นี้ออก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อลงสู่ฟันถาวรข้างใต้ได้ หลังจากถอนฟันแล้วโดยเฉพาะ บริเวณฟันหลัง อาจต้องพิจารณาใส่เครื่องมือกันฟันด้านหลังล้มเข้ามาสู่บริเวณที่ถอนฟันไปแล้ว เครื่องมือชนิดนี้จะมีขนาดเล็ก ๆ ใส่ยึดกับฟันที่อยู่ติดกับบริเวณที่ถอนฟันไปโดยจะใส่ไว้จนฟันถาวรซี่ที่อยู่บริเวณนั้นขึ้นมาจึงถอดออก ทั้งนี้ทั้งนั้นการรักษาจะเป็นชนิดไหนก็ตามก็คงต้องขึ้นอยู่กับลักษณะแต่ละรายไป ซึ่งทันตแพทย์จะให้คำปรึกษาและอธิบาย ถึงวิธีการรักษาแต่ละชนิดได้ดีที่สุด
ข้อมูลดีๆจาก ศูนย์ทันตกรรมของโรงพยาบาลไทยนครินทร์