เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร |
สาเหตุการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
โรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดจาก กรดและน้ำย่อยที่สร้างมาในกระเพาะอาหารเกิดการทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้ผิวกระเพาะอาหารบวม อักเสบ หรือเกิดแผลขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้อ ความเครียด อาหารรสจัด บุหรี่ สุรา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร เกิดการอักเสบเรื้อรัง และนำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้นในที่สุด
อาการของผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร
· ปวดหรือจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ หรือช่องท้องส่วนบน ในช่วงท้องว่าง เป็นๆ หายๆ เรื้อรังนานเป็นปี แต่จะมีช่วงเว้นที่ปลอด อาการ เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ และหายไปหลายๆ เดือนจึงกลับมาปวดอีกครั้ง
· ปวดมากหลังทานอาหาร โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารรสเผ็ดหรือเปรี้ยวจัด บางรายมีอาการปวดแน่นท้องกลางดึก หลังจากนอนหลับไปแล้ว จนต้องตื่นขึ้นมากลางดึก
· รู้สึกไม่สบายในท้อง แน่นท้อง บริเวณกลางท้องรอบสะดือ โดยมากมักมีท้องอืดร่วมด้วย หลังทานอาหารจะมีลมในท้อง มาก อาจมีคลื่นไส้อาเจียนหลังอาหารแต่ละมื้อ หรือในช่วงเช้ามืด ทานน้อย อิ่มง่ายกว่าปกติ
หลักการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร
· รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยวน้ำ
· แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ ในปริมาณน้อย ไม่ควรรับประทานจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
· หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารมัน ของหมักดอง น้ำอัดลม ชา กาแฟ
· งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาแก้ปวดโรคกระดูกและข้ออักเสบทุกชนิด ในกรณีที่มีโรคประจำตัวและ จำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ระบบทางเดินอาหารก่อนทุกครั้ง เพื่อรับยาป้องกันโรคกระเพาะอาหารที่เหมาะสม
· หลีกเลี่ยงความเครียดและความกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
· รับประทานยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์
· หากมีอาการของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปวดท้องรุนแรง ซีด อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ควรปรึกษา แพทย์ระบบทางเดินอาหารทันที
ข้อมูลดีๆจาก ศูนย์ทางเดินอาหาร รพ.ไทยนครินทร์