วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) และการเตรียมตัว

ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) 

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทำได้โดย แพทย์ใช้กล้องพิเศษซึ่งเป็นท่อยาวขนาดเล็กสอดทางทวารหนักผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะสามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ได้ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่ ในกรณีที่พบความผิดปกติ เช่น ติ่งเนื้อ เนื้องอก หรือเนื้อผิดปกติต่างๆ แพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจได้โดยตรง สำหรับกรณีที่มีติ่งเนื้อหรือเนื้องอกที่เป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็ง หลังจากการส่องกล้องและตัดออกแล้วจะสามารถหายสนิทโดยไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ นอกจากนี้ ชิ้นเนื้อที่ผิดปกติควรต้องส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่าเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในปัจจุบัน

การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้อง

หนึ่งวันก่อนส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยต้องทานอาหารอ่อน งดผัก ผลไม้ ยาบำรุงเลือด ยาแก้ท้องเสีย ผู้ป่วยจะได้รับยาระบายรับประทานเพื่อทำความสะอาดลำไส้ทั้งหมด ขณะแพทย์ทำการส่องกล้องจะได้เห็นลักษณะพื้นผิวของลำไส้อย่างชัดเจน หลังทานยาระบาย ผู้ป่วยอาจมีถ่ายเหลวได้เฉลี่ย 6-8 ครั้ง หากถ่ายมากเกินไปและมีอาการอ่อนเพลียสามารถดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนได้ แต่ในบางรายที่ถ่ายท้องมากเกินไปและเพลียมากอาจให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อลดอาการอ่อนเพลีย

ก่อนทำการส่องกล้องผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยานอนหลับและยาลดอาการปวด เพื่อลดความรู้สึกตึงแน่นในท้องจากการเป่าลมเข้าไปเพื่อให้ลำไส้ขยายตัวออกเหมือนลูกโป่งที่พองตัว แพทย์จะได้เห็นความผิดปกติภายในได้อย่างละเอียด ใช้ระยะเวลาในการทำโดยเฉลี่ย 15-30 นาที

ความรู้สึกหลังส่องกล้อง

เมื่อประสิทธิภาพของยานอนหลับหมดลง ผู้ป่วยจะค่อยๆ รู้สึกตัว อาจรู้สึกเวียนหัว ตาลาย หรือหน้ามืด ผู้ป่วยควรนอนพักผ่อนให้สบายจนรู้สึกตัวดี ในกรณีที่ต้องการลุกขึ้นหรือเปลี่ยนท่าทาง ควรเปลี่ยนอย่างช้าๆ เป็นขั้นตอน จากนอนเป็นนั่ง จากนั่งเป็นยืน และจากยืนเป็นเดิน เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับสู่สมดุล

ในช่วงระยะ 2-3 ชั่วโมงแรกหลังการส่องกล้อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถรับประทานอาหาร กลับบ้าน หรือปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติ โดยอาจยังรู้สึกแน่นท้อง มีลมในท้อง เป็นผลจากลมที่ขยายลำไส้ระหว่างการส่องกล้อง ซึ่งสามารถระบายออกได้เองตามธรรมชาติด้วยการเรอหรือผายลม จัดเป็นภาวะปกติหลังการส่องกล้อง ผู้ป่วยไม่ควรกลั้นลมไว้ เพราะอาจทำให้ท้องอืดหรือปวดเกร็งท้อง ในกรณีที่มีอาการมากอาจทานยาขับลมร่วมด้วยได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้ขึ้นสูงหลังการส่องกล้องควรกลับมาพบแพทย์ทันที

การดูแลตนเองหลังการส่องกล้อง

· อาหารมื้อแรกหลังการส่องกล้องควรเลือกเป็นอาหารอ่อนในปริมาณไม่มาก เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก หลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารรสจัด หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
· หลังทานอาหารควรลุกขึ้นเดินช้าๆ ประมาณ 10-15 นาที เพื่อช่วยให้ลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้น
· ในกรณีที่ได้รับการตัดติ่งเนื้อหรือเนื้องอกในลำไส้ ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติในวันรุ่งขึ้น แต่ควรหลีก เลี่ยงการยกของหนัก การเบ่งถ่าย หรือการออกกำลังกายที่ต้องเกร็งหน้าท้องในช่วงสัปดาห์แรก

ข้อมูลดีๆจาก ศูนย์ทางเดินอาหาร รพ.ไทยนครินทร์

ป้ายกำกับ

รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้และเคล็ดลับสุขภาพ ข้อมูลโดยแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ

Recent Posts

Categories

Text Widget

health and care 2day รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ การดูแลรักษาสุขภาพ สาระน่ารู้เรื่องสุขภาพ เพื่อคนรักสุขภาพอย่างคุณ

Blog Archive