วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มาทำความรู้จักกับอาการ ลำไส้อักเสบในเด็ก

เด็กที่มีลำไส้อักเสบจะมีอาการถ่ายอุจจาระผิดปกติ โดยอาจจะถ่ายเป็นน้ำ น้ำปนเนื้อมูก หรือมูกเลือด และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด น้ำหนักลด หรือเลี้ยงไม่โต ตัวบวม จากการสูญเสียโปรตีนทางลำไส้ โลหิตจางจากการสูญเสียเลือดทางลำไส้

มาทำความรู้จักกับอาการ ลำไส้อักเสบในเด็ก
ภาพประกอบจาก flickr Tom Godber

การอักเสบของลำไส้ มีสาเหตุหลายประการ ได้แก่

การติดเชื้อซึ่งเป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หรือพยาธิ
การแพ้นมวัว หรืออาหารบางชนิด
การอุดตันของลำไส้ใหญ่ในโรค Hirschsprung"s disease ซึ่งมีความผิดปกติของระบบประสาท ในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่กำเนิด
ภูมิต้านทานของร่างกายผิดปกติ
ไม่ทราบสาเหตุ เช่น โรค inflammatory bowel disease ซึ่งพบน้อยในคนไทย

เด็กปกติวัยประมาณ 1-2 ปี บางคน อาจมีอาการถ่ายอุจจาระบ่อยและเหลวเป็น ๆ หาย ๆ เฉพาะช่วง เวลากลางวัน เด็กกลุ่มนี้จะมีการเจริญเติบโตปกติ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากลำไส้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น กว่าปกติ โดยที่ไม่มีการอักเสบของลำไส้ ผู้ปกครองควรให้เด็กลดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีน้ำตาลปริมาณมาก เช่น น้ำผลไม้สำเร็จรูป และรับประทานเนื้อสัตว์และผักให้มากขึ้น

การรักษาภาวะลำไส้อักเสบในเด็ก แบ่งเป็น

การรักษาประคับประคอง

แก้ไขภาวะขาดน้ำ เด็กที่ถ่ายอุจจาระเหลว จะสูญเสียน้ำไปกับอุจจาระ ผู้ปกครองอาจประเมิน ความรุนแรงของการขาดน้ำได้ดังนี้

ขาดน้ำน้อย เด็กจะมีเพียงปากแห้ง กระหายน้ำ โดยที่ไม่มีกระหม่อมบุ๋ม หรือตาลึกโหล
ขาดน้ำปานกลาง เด็กจะมีปากแห้งมาก ผิวหนังแห้งจับตั้งแล้วคืนสู่สภาพเดิมช้ากว่า 2 วินาที ตาลึกโหล
กระหม่อมบุ๋ม ร้องไห้ไม่ค่อยมีน้ำตา กระสับกระส่าย กระหายน้ำมาก ปัสสาวะน้อยลง
ขาดน้ำรุนแรง เด็กจะซึม ปากและลิ้นแห้งมาก ตาลึกโหล กระหม่อมบุ๋มมาก หัวใจเต้นเร็ว มือเท้าเย็น แขนขาลายเป็นจุด ๆ และช็อค

ถ้าเด็กมีการขาดน้ำน้อย ผู้ปกครองอาจให้เด็กดื่มสารละลายเกลือแร่ปริมาณ 50 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว เด็ก 1 กิโลกรัม ในระยะเวลา 4 ชั่วโมง ในระหว่างนี้ถ้าเด็กถ่ายอุจจาระเพิ่มขึ้นอีก ต้องให้สารละลายเกลือ แร่เพิ่มขึ้นอีก โดยให้ปริมาณ 10 ซีซี ต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม ต่อการถ่ายอุจจาระ 1 ครั้ง ถ้าเด็กมี การขาดน้ำปานกลางหรือรุนแรง ควรนำเด็กมาพบแพทย์เพราะอาจมีความจำเป็นต้องได้รับสารน้ำทาง หลอดเลือด

แก้ไขความผิดปกติของระดับเกลือแร่ในเลือดในกรณีที่มีการขาดน้ำปานกลางหรือรุนแรง

หลังจากที่แก้ไขภาวะขาดน้ำแล้ว ควรให้เด็กรับประทานอาหารและนมโดยไม่จำเป็นต้องเจือจางนม และให้ในปริมาณน้อย ๆ และบ่อย ๆ เพื่อให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมอาหารได้ทัน การงดอาหารจะทำให้เด็ก ขาดอาหารเกิดภาวะทุพโภชนาการ เลี้ยงไม่โต และในกรณีที่ลำไส้อักเสบรุนแรง เยื่อบุลำไส้จะฝ่อ การงดอาหารจะทำให้การฟื้นตัวของเยื่อบุลำไส้ช้ากว่าการให้รับประทานอาหาร การรักษาตามอาการ แพทย์อาจให้ยาลดไข้หรือลดอาการคลื่นไส้อาเจียนถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

การรักษาจำเพาะ

แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อโรคในลำไส้ อย่างไรก็ตามถ้าเด็กมีลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส ก็ไม่จำเป็นต้อง ได้รับยาฆ่าเชื้อโรค
รับประทานนมพิเศษ ในกรณีที่เกิดจากการแพ้นมวัว หรือลำไส้อักเสบรุนแรงจนเกิดเยื่อบุลำไส้ฝ่อ ทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึม น้ำตาลในนมปกติได้
รับประทานยาลดการอักเสบในกรณีที่เป็น inflammatory bowel disease
ถ้าเด็กมีอาการเหล่านี้ควรนำเด็กมาพบแพทย์
ถ่ายอุจจาระจำนวนมาก
อาเจียนซ้ำ ๆ
แสดงอาการกระหายน้ำมาก
ไม่ยอมรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ
ไข้ขึ้นสูง
มีเลือดในอุจจาระ

การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบ ได้แก่

พยายาม ให้เด็กรับประทานนมมารดา เนื่องจากนมมารดามีสาร secretory IgA ช่วยป้องกันไม่ให้ เชื้อโรคเกาะติดกับผนังลำไส้หรือรบกวนการเจริญเติบโตของ เชื้อโรค ถ้าจำเป็นต้องให้เด็กรับประทานนมจากขวดนม ต้องทำความสะอาดขวดนม และจุกนมโดยการต้ม น้ำที่ใช้ผสมนมควรเป็นน้ำต้มสุกรวมทั้งล้างมือให้สะอาดก่อนการเตรียมผสมนม ให้เด็ก

ข้อมูลจาก แผนกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลไทยนครินทร์

ป้ายกำกับ

รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้และเคล็ดลับสุขภาพ ข้อมูลโดยแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ

Recent Posts

Categories

Text Widget

health and care 2day รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ การดูแลรักษาสุขภาพ สาระน่ารู้เรื่องสุขภาพ เพื่อคนรักสุขภาพอย่างคุณ

Blog Archive