วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง และการรักษา

สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง และการรักษา
สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง และการรักษา

สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง และการรักษา

โรคถุงลมโป่งพอง หมายถึง ภาวะที่ถุงลมเสียความยืดหยุ่นและเปราะง่ายอาจมีการแตกทะลุทำให้ถุงลมสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศทำให้ลมที่จะเข้าปอดน้อยกว่าปกติรวมทั้งการแลกเปลี่ยน ออกซิเจนก็ลดน้อยลงด้วยซึ่งโดยปกติก๊าซออกซิเจนในถุงลมจะซึมผ่านผนังถุงลม และหลอดเลือดเข้าไปในกระแสเลือด ในขณะที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดก็จะซึมกลับออกมาในถุงลม

สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง

สาเหตุของถุงลมโป่งพอง ที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ การสูบบุหรี่ นอกจากนั้นยังอาจเกิดจาก การสูดดมสิ่งที่เป็นพิษ เช่น มลภาวะ ไอเสีย ฝุ่น สารเคมี เป็นระยะเวลานาน ๆ

อาการโรคถุงลมโป่งพอง

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง ถุงลมและหลอดลมจะเสียความยืดหยุ่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ แต่ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้น อาการก็จะแสดงชัดขึ้นตามลำดับ โดยอาการสำคัญที่พบบ่อยๆ ได้แก่ หายใจลำบาก หอบ เหนื่อย และหายใจมีเสียงวี๊ด

การวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง

โดยการตรวจสมรรถภาพทางปอด เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสมรรถภาพปอดมีหลายชนิด ได้แก่

·เครื่อง Spirometer เป็นเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นการตรวจวัดปริมาตรของ อากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด ทำได้ค่อนข้างง่ายแต่ต้องอาศัยความร่วมมือของ ผู้ที่มาตรวจเนื่องจากต้องมีขั้นตอนการสูดลมและการออกแรงเป่าอย่างเต็มที่ทางปาก

·การวิเคราะห์ก๊าซในเลือดแดง เนื่องจากระดับก๊าซในเลือดแดงจะช่วยบอกถึงความผิดปกติในการแลกเปลี่ยนก๊าซเกี่ยวกับการรับออกซิเจนและการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์

การรักษาโรคถุงลมโป่งพอง

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใด ที่สามารถทำให้โรคถุงลมโป่งพองหายได้ แต่การใช้ยาจะช่วยให้ ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และปอดถูกทำลายช้าลง

ข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี

การปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีนในเด็ก

การปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีนในเด็ก
การปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีนในเด็ก

การปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีนในเด็ก

การฉีดวัคซีนในเด็กเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันของตัวเองด้วยเชื้อโรคที่อ่อนแรง หรือ บางส่วนของเชื้อโรคมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ เพราะฉะนั้นเมื่อรับวัคซีนแล้วอาจมีอาการข้างเคียงบางอย่างเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนซึ่งโดยทั่วไปจะมีอาการไม่มาก และจะหายไปเอง ตัวอย่างเช่น

ตุ่มหนอง มักเกิดจากการฉีดวัคซีน BCG ที่ฉีดบริเวณไหล่ซ้ายตอนแรกคลอด พบหลังฉีดประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ และตุ่มหนองจะเป็นๆหายๆประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ เหลือเป็นรอยแผลเป็นเล็กๆการดูแลตุ่มหนองให้ใช้สำลีสะอาดชุบน้ำต้มสุกเช็ด ห้ามบ่งหนอง

ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีด เด็กอาจร้อง กวน งอแง ถ้าอาการมาก มารดาอาจให้ยาแก้ปวด และใช้ผ่าชุบน้ำเย็นประคบ

ไข้ตัวร้อน มักเกิดหลังได้รับวัคซีนคอบตีบ บาดทะยัก ไอกรน ที่ฉีดตอนอายุ 2 , 4, 6 เดือน, 1ขวบครึ่ง และ 4 ขวบ มารดารควรเข็ดตัวลูกด้วยน้ำธรรมดา โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ และข้อพับต่างๆ และอาจให้ยาลดไข้พาราเซตามอล อาการจะเป็น 1 - 2 วัน และจะหายไปเอง

มีไข้ ไอ มีน้ำมูก มีผื่น อาจพบหลังฉีดวัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยมากอาการมักไม่รุนแรง

คำแนะนำในการมาฉีดวัคซีนในเด็กครั้งต่อไป

1.ในวันนัด ถ้าเด็กเป็นไข้ไม่สบาย ควรให้เด็กหายดีก่อนหลังจากนั้น 1 สัปดาห์จึงพามารับวัคซีน

2.ในกรณีที่ไม่สามารถมาตามนัดได้ ท่านสามารถพามารับวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ครบไม่ว่าจะเว้นไว้ไปนานเท่าใดได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ไม่ควรพามาก่อนนัดเนื่องจากระยะห่างระหว่างการกระตุ้นของวัคซีนที่สั้นเกินไปจะมีผลให้ภูมิต้านทานโรคขึ้นน้อยกว่าปกติ

3.ถ้าเด็กเคยมีประวัติแพ้ยา แพ้ไข่ไก่ หรือเคยมีอาการผิดปกติรุนแรงหลังได้รับวัคซีน เช่น ชัก ผื่น ลมพิษไข้สูงมาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนได้รับวัคซีนครั้งต่อไป

ข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี

มารู้จักกับโรคริดสีดวงจมูก และวิธีการรักษา

มารู้จักกับโรคริดสีดวงจมูก และวิธีการรักษา
มารู้จักกับโรคริดสีดวงจมูก และวิธีการรักษา

มารู้จักกับโรคริดสีดวงจมูก และวิธีการรักษา

ริดสีดวงจมูก เป็นโรคที่หลายๆคนยังสงสัย และสับสนกับไซนัสอักเสบ ในความเป็นจริงแล้ว โรคริดสีดวงจมูก คือ การที่เยื่อบุจมูก หรือ ไซนัส มีการอักเสบและบวม จนยื่นออกมาเป็นก้อน ทำให้โพรงจมูกและ/หรือไซนัสแคบ โดยก้อนที่งอกออกมานั้นอาจยื่นมาปิดโพรงจมูก หรือแม้แต่ห้อยลงไปในลำคอก็ได้

สาเหตุของโรคริดสีดวงจมูก

สำหรับสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยหลักๆที่ทำให้เกิดโรค คือ การที่คนไข้นั้นๆเป็นหวัดบ่อย เกิดจากการติดเชื้อในโพรงจมูกซ้ำๆ และขณะเดียวกันกับร่างกายก็ขาดภูมิต้านทานที่ดี ทำให้เกิดการบวมในโพรงจมูกบ่อยๆนานๆ เข้าก็สามารถเกิดเป็นโรคริดสีดวงจมูกนี้ได้ นอกจากนี้ คือ การตอบสนองของปลายประสาทที่หลอดเลือดโพรงจมูกมีความไวเกินไป

อาการของโรคริดสีดวงจมูก

เมื่อริดสีดวงจมูกมีขนาดโตขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัดแน่นจมูก ซึ่งจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาจมีอาการจามหรือ น้ำมูกได้ ซึ่งอาจมีลักษณะใส ขุ่นข้น เหนียวหรือมีเหลือง เขียว ผู้ป่วยอาจได้รับกลิ่นน้อยลงหรือไม่ได้กลิ่น ในรายที่มีไซนัสอักเสบร่วมด้วย อาจมีน้ัำมูก เสมหะเหลือง เขียว ไหลลงคอ อาจมีอาการ ปวดตื้อบริเวณแก้ม หรือ สันจมูก ปวด หรือ มึนศีรษะ เจ็บคอเรื้อรัง ไอหรือ กระแอมบ่อย ระคายคอ แสบคอและ หูอื้อได้

วิธีการรักษาโรคริดสีดวงจมูก

1.ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกยาจะช่วยลดขนาดของริดสีดวงจมูกและป้องกันไม่ให้มีขนาดโตขึ้น ถ้ายังมีริดสีดวงจมูกเหลืออยู่และอาการผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น หลังจากการใช้สเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกระยะหนึ่งแล้วควรผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออก

2.ยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีดการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีดร่วมกับยาสเตียรอยด์ชนิดพ่น จะทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นมากและขนาดของริดสีดวงจมูกเล็กลงอย่างชัดเจน และทำให้การได้รับกลิ่นดีขึ้นด้วย

3.การทำผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกแบบธรรมดา(Simple polypectomy)การผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกอาจจะใช้วิธีดั้งเดิม คือ การใช้ลวดคล้องและดึงออกมา เป็นการผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกเท่านั้น ไม่ได้ผ่าตัดเข้าไซนัส

4.การผ่าตัดริดสีดวงจมูกและไซนัสด้วยการใช้กล้องส่วนใหญ่จะได้ผลดีถึงดีมาก ประกอบด้วย การตัดเอาริดสีดวงจมูกออกร่วมกับการผ่าตัดบริเวณรูเปิดไซนัสให้โล่ง โดยสรุป การผ่าตัดโดยการใช้กล้องเป็นทางเลือกที่ดีในการผ่าตัด ริดสีดวงจมูก ควรเลือกใช้การผ่าตัดด้วยกล้องหลังจากให้การรักษาด้วยยาเต็มที่แล้ว แต่อาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น ในรายที่มีริดสีดวงจมูกเต็มโพรงจมูก อาจใช้การผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกแบบธรรมดาก่อน แล้วจึงให้การรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือน ถ้าไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรจึงให้การรักษาด้วยการผ่าตัดโดยการใช้กล้อง หลังผ่าตัดก็จะติดตามผู้่ป่วยและให้การรักษาต่อเนื่องไป โดยการปรับขนาดของยาสเตียรอยด์ชนิดกินและพ่นให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการรักษาริดสีดวงจมูก

ข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี

มาดูกันว่าพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ทั้ง 9 เดือน

มาดูกันว่าพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ทั้ง 9 เดือน
มาดูกันว่าพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ทั้ง 9 เดือน

มาดูกันว่าพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ทั้ง 9 เดือน

พัฒนาการทางร่างกายของลูกน้อยในครรภ์

ตั้งครรภ์เดือนที่ 1 เป็นตัวอ่อน อยู่ในช่วงเริ่มพัฒนาอวัยวะสำคัญทั้งหมด

ตั้งครรภ์เดือนที่ 2 ร่างกายยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ศีรษะจะมีขนาดใหญ่กว่าส่วนอื่น

ตั้งครรภ์เดือนที่ 3 อวัยวะสำคัญทั้งหมดสร้างเรียบร้อย ความยาวลำตัวประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนัก 40-48 กรัม

ตั้งครรภ์เดือนที่ 4 ลูกน้อยจะมีศีรษะและใบหน้าที่ใกล้เคียงกับใบหน้าที่สมบูรณ์ ผิวโปร่งใสเห็นเส้นเลือดชัดเจน กลืนน้ำคร่ำได้ ความยาวประมาณ 16 เซนติเมตร

ตั้งครรภ์เดือนที่ 5 เริ่มมีขนอ่อน ๆ ตามตัว และมีผมบาง ๆ ระบบประสาทสมบูรณ์ ยาว 16 เซนติเมตร หนัก 500 กรัม

ตั้งครรภ์เดือนที่ 6 ลูกดิ้นแรงขึ้น ลำตัวยาว 30 เซนติเมตร หนัก 600 กรัม

ตั้งครรภ์เดือนที่ 7 ลำตัวยาว 35 เซนติเมตร น้ำหนัก 1,000-2,000 กรัม

ตั้งครรภ์เดือนที่ 8 ลำตัวยาว 40-45 เซนติเมตร น้ำหนัก 2,000 กรัม ลืมตามองสิ่งต่าง ๆ ในครรภ์ได้

ตั้งครรภ์เดือนที่ 9 ปอดและผิวหนังสมบูรณ์ ความยาวประมาณ 45-50 เซนติเมตร ศีรษะทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนลงอุ้งเชิงกรานมารดา

พัฒนาการทางระบบประสาทของลูกน้อยในครรภ์

ช่วงเดือนที่ 5-6 (20-24สัปดาห์) : ลูกน้อยจะเริ่มพัฒนาการด้านการได้ หูและโครงสร้างการรับเสียง เริ่มที่อายุครรภ์ประมาณ 22 สัปดาห์จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ชัดเจนมากขึ้นหลังอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการแสดงสีหน้าและร้องไห้ได้

ช่วงเดือนที่ 6-7 (24-28 สัปดาห์) : สัปดาห์ที่ 26 ลูกน้อยจะรับสัมผัสจากคุณแม่ได้ตลอดเวลา ต้นสัปดาห์ที่ 28 ลูกน้อยจะมีเริ่มมีประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นและรับรสได้ ตามมาด้วยพัฒนาการของการมองเห็น โดยพบว่าช่วงปลายสัปดาห์ที่ 28 ลูกน้อยมีการกระพริบตาตอบสนองต่อแสงไฟได้

ช่วงเดือนที่ 7-8 (28-32 สัปดาห์) : ลูกน้อยสามารถแยกแยะเสียงสูง-ต่ำได้ รวมถึงสามารถจดจำและแยกแยะเสียงของคุณแม่ได้ด้วย สัปดาห์ที่ 29 ลูกน้อยจะสามารถลืมตาได้ หลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ลูกน้อยในครรภ์จะมีการพัฒนาการของสมองอย่างสมบูรณ์ การมองเห็นใกล้เคียงกับทารกแรกเกิด

ช่วงเดือนที่ 8-9 (32-36 สัปดาห์) : ลูกน้อยจะมีการรับรู้รสชาติของอาหารบางอย่างที่คุณแม่รับประทานด้วย และเกิดความคุ้นเคยได้ รวมทั้งมีพัฒนาการตอบสนองต่อเสียงอย่างสมบูรณ์

ข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี

วิธีการบริหารเพื่อป้องกันอาการอ้าปากค้าง

วิธีการบริหารเพื่อป้องกันการอ้าปากค้าง

วิธีการบริหารเพื่อป้องกันการอ้าปากค้าง

Hypermobility exercise คือ การบริหารที่ออกแบบเพื่อจำกัดการอ้าปากไม่ให้กว้างเกินไป ซึ่งการอ้าปากกว้างเกินไปอาจเสี่ยงต่อการอ้าปากค้างได้ ควรทำการบริหารช้าๆ และ นุ่มนวล ครั้งละ 10 รอบ วันละ 3 ครั้ง

1.แผ่ลิ้นให้แตะเพดานปาก ดึงลิ้นลงจากเพดานปากทำให้เกิดเสียง "เต๊าะ"

2.เอาปลายลิ้นแตะเพดานปาก แล้วอ้าปากหุบปากช้าๆ ให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ปลายลิ้นไม่หลุดออกจากเพดานปาก

3.การบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงแก่กล้ามเนื้อ ทำได้โดยขณะอ้าปากเล็กน้อย วางนิ้วชี้และนิ้วกลาง บนด้านบดเคี้ยวของฟันกรามล่างทั้งข้างซ้ายและขวา ออกแรงกดลงเล็กน้อย ขณะที่พยายามเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อหุบปาก ไม่กัดนิ้วไว้ประมาณ 5 วินาที

ข้อควรระวัง

* ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารคำโตๆ การทำฟันที่ต้องอ้าปากกว้างๆและใช้เวลานานๆ

*จำกัดการหาวโดยใช้ปลายนิ้วกลางแต่ปลายจมูก งอมือใให้อุ้งมือรองใต้คางหรือจำกัดระยะการหาวโดยทำตามข้อ 2

ข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี

วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

มารู้จักกับโรคอัมพาตใบหน้า

มารู้จักกับโรคอัมพาตใบหน้า
มารู้จักกับโรคอัมพาตใบหน้า 

มารู้จักกับโรคอัมพาตใบหน้า

เป็นโรคคนละกลุ่มกับโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตที่คนทั่วๆไปรู้จัก กล่าวคือ โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง แต่โรคอัมพาตใบหน้านี้เกิดจาความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า พบได้บ่อยในคนทุกอายุ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพและทุกเชื้อชาติ โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงหรือ รุนแรงแต่อย่างใด และมักจะรักษาให้หายได้เกือบ 100 เปอร์เซนต์ ภายในเวลาไม่เกิน 2 เดือน ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา

ลักษณะของโรคอัมพาตใบหน้า พบว่า มักจะเกิดอาการขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน หรือ แบบทันทีทันใด และ ไม่ทันรู้เนื่อรู้ตัวมาก่อน อาจมีอาการแสบตาข้างเดียว เพราะไม่สามารถปิดตาได้สนิท ในเวลาถูกลม หรือ มีอาการรับประทานอาหารแล้วน้ำลายไหลออกทางมุมปากข้างใดข้างหนึ่ง ต่อมาอาการของโรคอาจจะเป็นมากขึ้นจนปากเบี้ยวและปิดตาไม่สนิท จนสามารถสังเกตมองเห็นได้ชัดเจนเวลาผู้ป่วยพูด ยิ้ม หรือ กะพริบตา บางรายอาจมีอาการมากจนไม่สามารถขยับมุมปาก หลับตา หรือยักคิ้วหลิ่วตาได้เลย

การรักษาโรคอัมพาตใบหน้าได้ผลดีหรือไม่เพียงใด

พบว่าผู้ป่วยราวร้อยละ 80 - 85 จะมีการหายของโรคได้อย่างสมบูรณ์ คือ หายสนิทจนเป็นปกติ ยกเว้น ผู้ป่วยบางราย ราว 10 - 15 เปอร์เซนต์ ที่มีอาการบ่งชี้ของการพยากรณ์โรคที่เลว อันได้แก่

ก. รายที่มีอาการอัมพาตกล้ามเนื้อชนิดรุนแรงจนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อใบหน้าได้เลย
ข. รายที่มีโรคประจำตัวอันได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ร่วมด้วย
ค. รายที่มีอาการปวดบริเวณใบหน้าเกิดขึ้นด้วย (ยกเว้นอาการปวดบริเวณหู)

พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ในขนาดสูงๆ ตั้งแต่ต้น คือ ภายในสัปดาห์แรกของการเกิดโรคมักจะมีการฟื้นและหายได้อย่างดีถึงร้อยละ 95

คำแนะนำที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดทางนรีเวช

คำแนะนำที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดทางนรีเวช
คำแนะนำที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดทางนรีเวช

คำแนะนำที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดทางนรีเวช

ประเภทของการผ่าตัด

ผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดรังไข่ ผ่าตัดมดลูกและรังไข่(บางรายร่วมกับการผ่าตัดไส้ติ่ง)

เวลาที่ใช้ในการผ่าตัด

ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนละสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้นต่ออีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ จึงส่งผู้ป่วยกลับไปหอผู้ป่วย

สภาพหลังการผ่าตัดทางนรีเวช

-มีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง
-มีสายน้ำเกลือที่แขนข้างใดข้างหนึ่ง บางรายอาจมีฉีดยาปฏิชีวนะทางสายน้ำเกลือ ประมาณ 1-2 วัน
-สวนคาสายปัสสาวะไว้ประมาณ 1-2 วัน(ยกเว้นในบางกรณีอาจคาสายไว้นานกว่านี้)
-อาการข้างเคียงหลังดมยาสลบ เช่น เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน เวียนศรีษะ
-อาการข้างเคียงหลังได้รับยาระงับความรู้สึก โดยฉีดยาชาบริเวณหลัง เช่น อาการคันตามร่างกาย ปวด--ศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน ผู้ป่วยนอนราบ 12 ชั่วโมง

คำแนะนำก่อนผ่าตัดทางนรีเวช

การเตรียมตัวก่อนมาโรงพยาบาล

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีความพร้อมในการผ่าตัด
2. พักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้แข็งแรง ไม่อ่อนเพลียก่อนผ่าตัด
3. ก่อนผ่าตัด 1 วัน ควรทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ ตัดเล็บไม่ทาเล็บ
4. มา Admit ที่โรงพยาบาลก่อนเวลาผ่าตัดอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
5. งดใส่เครื่องประดับมาโรงพยาบาล

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดทางนรีเวช

1. งดน้ำงดอาหาร ประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด หรือตามคำสั่งแพทย์โดยอาหารที่รับประทานก่อนงดควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย
2. ถอดฟันปลอม เครื่องประดับหรือของมีค่าก่อนเข้าห้องผ่าตัด
3. เตรียมผ่าตัดตามคำสั่งแพทย์โดยเจ้าหน้าที่ เช่น

-โกนขนบริเวณหน้าท้องและหัวหน่าว
-สวนล้างช่องคลอด
-สวนอุจจาระ
-สวนคาสายปัสสาวะ
-การใช้ยาก่อนผ่าตัด(ถ้ามี)

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับจากห้องผ่าตัดทางนรีเวช

1. หายใจเข้าออกลึกๆ โดยทำจำนวน 5 ครั้งในทุกๆ 1 ชั่วโมง

วิธีการ
- นอนศรีษะสูงหรือลุกนั่ง งอเข่าเล็กน้อยยกเว้นในกรณี Block หลัง
- ใช้มือทั้ง 2 ข้าง วางหรือประสานกันบริเวณแผลหรือใช้หมอนวางบริเวณแผลทำให้ลดความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น
- หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ทางจมูก ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที(นับ 1-2-3 ในใจ)
- ห่อริมฝีปากเหมือนจะผิวปาก แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ยาวๆ

2. ไอแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อเอาเสมหะออกจากลำคอ

วิธีการ
- หายใจเข้าออกลึกๆ ประมาณ 4 ครั้ง(ตามวิธีดังกล่าวข้างต้น)
- ครั้งที่ 4 หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้ประมาณ 3 วินาที (นับ 1-2-3 ในใจ)
- ใช้มือทั้ง 2 ข้างกดแผลก่อนไอ
- แล้วไออกมาจากส่วนลึกของลำคอ 1-2 ครั้ง เพื่อขับเสมหะที่คั่งค้างออกมา

3. หลังผ่าตัดสามารถพลิกตะแคงตัวได้ตามความต้องการและภายหลัง 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดพยาบาลแนะนำวิธีการลุกนั่ง/ลุกจากเตียงอย่างถูกวิธีโดย

- นอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง
- ใช้ข้อศอกข้างที่อยู่ด้านล่างยันกับพื้น
- แขนอีกข้างเกาะไหล่คนที่ช่วยพยุงหรือเหล็กกั้นเตียง
- แล้วยกตัวขึ้นในท่าตะแคง

4. งดน้ำงดอาหารจนกว่าจะมีคำสั่งแพทย์ให้เริ่มอาหารโดยส่วนใหญ่ประมาณ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด โดยจะเริ่มที่อาหารเหลวแนะนำให้จิบน้ำอุ่นหรือน้ำข้าว น้ำซุปจำนวนน้อยๆก่อนแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นและเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย งดนม งดน้ำอัดลม เพราะจะทำให้ท้องอืดได้ และหลังรับประทานอาหารควรลุกนั่งหรือเดินอย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อป้องกันภาวะท้องอืด

5. ภาวะหลังผ่าตัด อาจมีไข้ ท้องอืด หรือมีเลือดอออกทางช่องคลอดได้

6. ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นๆ กรุณาแจ้งแพทย์ หรือพยาบาลที่ดูแลทราบ

คำแนะนำเมื่อกลับบ้าน

1. การดูแลแผลผ่าตัด ถ้าเปิดพลาสเตอร์กันน้ำ ให้อาบน้ำได้ตามปกติโดยการตักอาบหรือฝักบัว ไม่ควรนอนแช่อ่างหรือแม่น้ำลำคลอง แต่ถ้าแผลไม่ได้ปิดพลาสเตอร์กันน้ำห้ามให้แผลโดนน้ำ

2. ห้ามยกของหนักและห้ามขับรถ ประมาณ 1- 2 เดือน

3. งดการมีเพศสัมพันธ์หลังผ่าตัดประมาณ 6-8 สัปดาห์

4. กรุณามาตรวจตามนัด แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น แผลอักเสบ บวมแดง ไข้สูง มีเลือดออกจำนวนมากหรือหนองออกจากช่องคลอด ให้รีบมาพบแพทย์ก่อนวันนัด

5. สภาวะหลังผ่าตัดมดลูก และ/หรือรังไข่ทั้งสองข้างจะทำให้ไม่มีประจำเดือนไม่สามารถมีบุตรได้

การผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้าง บางรายอาจมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศรีษะ หงุดหงิด ใจสั่นได้ เนื่องจากร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิง ถ้ามีอาการเหล่านี้สามารถรักษาได้โดยการให้ฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไปทดแทน โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ

ข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการป้องกันมะเร็งปากมดลูก

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการป้องกันมะเร็งปากมดลูก
สาระน่ารู้เกี่ยวกับการป้องกันมะเร็งปากมดลูก

สาระน่ารู้เกี่ยวกับการป้องกันมะเร็งปากมดลูก

1.HPV Virus เกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคมะเร็งปากมดลูก

- HPV Virus พบมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่มีเพียง 15 ชนิด ซึ่งเป็นสายพันธุ์รุนแรงโดยเฉพาะ

สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกร้อยละ 70 ส่วนมะเร็งอื่นๆ เช่น มะเร็งช่อง คลอดในสตรี มะเร็งอวัยวะเพศภายนอก รวมถึงมะเร็งทวารหนักในบุรุษ เป็นต้น

- การติดเชื้อ HPV นั้นไม่ใช่ทุกรายจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะมีโอกาสหายได้เอง ประมาณร้อยละ 90

- การสัมผัสทางผิวหนัง โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์เป็นสาเหตุหลักในการติดเชื่อ HPV เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านเยื่อบุผิว โดยเฉพาะที่ปากมดลูก อวัยวะเพศภายนอกที่มีแผลหรือ รอยฉีกขาด แล้วไวรัสนี้จะฝังตัวในเซลล์เยื่อบุชั้นล่างสุด เนื้อเยื่อบริเวณนั้นจึงค่อยๆเปลี่ยน แปลงอย่างช้าๆแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะฟักตัว ระยะก่อนมะเร็ง และระยะมะเร็ง ซึ่งตั้งแต่ การติดเชื้อจนกลายเป็นมะเร็งใช้เวลาเปลี่ยนแปลงถึง 10 - 20 ปี

2.เรามีวิธีการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้หรือไม่

- ปัจจุบันมีแนวทางการป้องกันมะเร็งปากมดลูกโดย

* การฉีดวัคซีนซึ่งเป็นปราการด่านแรกที่ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกาย
* การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เป็นแนวป้องกันลำดับที่ 2 เพื่อค้นหา และติดตาม การติดเชื้อ HPV ระยะก่อนมะเร็งหรือ ระยะแรกของมะเร็งปากมดลูก แล้วรักษา ก่อนที่จะมีการลุกลามมากขึ้น

- เวลาการดำเนินของโรคแม้จะใช้เวลานาน แต่เราควรป้องกันตนเองไว้ก่อนที่จะสายเกินไป

3.มาทำความรู้จักกับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกกันเถอะ

วัคซีนในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่

- ชนิดที่ป้องกันได้ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 วัคซีนชนิดนี้สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายให้ขึ้นสูงกว่าวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์
- ชนิดที่ป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 16 , 18 , 6 และ 11 ซึ่งสายพันธุ์ 6 และ 11 ไม่ทำให้เป็นมะเร็งแต่จะก่อให้เกิดโรคที่สร้างความกังวลใจ เช่น หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก เป็นต้น
*ประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งที่เกิดจากสายพันธุ์ 16 และ 18 ของวัคซีนทั้งสองชนิดใกล้เคีียงกัน

4.ใครบ้างที่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

- อายุ 11 -26 ทั้งหญิงและชาย ในกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์สูงสูด โดยเฉพาะที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์
- กลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว และสตรีวัย 45 ถึง 55 ปี สามารถฉีดวัคซีนได้ แม้การป้องกันอาจไม่ดีเท่าในกลุ่มแรก แต่ถ้าไม่เคยติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 หรือ 18 ยังได้รับการป้องกันที่ดี
- กลุ่มชายรักชาย สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน แต่จะแนะนำให้ฉีดชนิด 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับในปัจจุบัน
-สตรีที่ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติสามารถฉีดได้ แต่ควรติดตามรักษาไปพร้อมกัน และขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย
- สตรีที่ผ่าตัดมดลูกออกแล้วสามารถฉีดวัคซีนได้ โดยจะป้องกันมะเร็งช่องคลอดและมะเร็งอวัยวะเพศภายนอก แต่มะเร็งทั้งสองชนิดพบได้น้อย

ข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี

คำแนะนำสำหรับคุณแม่หลังคลอดบุตร

คำแนะนำสำหรับคุณแม่หลังคลอดบุตร
คำแนะนำสำหรับคุณแม่หลังคลอดบุตร

คำแนะนำสำหรับคุณแม่หลังคลอดบุตร

อาการผิดปกติที่ควรรีบมารับการตรวจรักษาก่อนถึงวันนัด ได้แก่

1. ไข้
2. ปวดศรีษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว
3. มีเลือดสดๆ ออกทางช่องคลอดมาก
4. น้ำคาวปลามีสีแดงไม่จางลง ออกจำนวนมากหรือมีกลิ่น หม็นเน่า
5. เต้านมอักเสบ บวม แดง แข็งเป้นก้อน กดเจ็บ
6. น่องบวมแดง กดเจ็บ
7. ถ่ายปัสสาวะบ่อย แสบขัดเวลาปัสสาวะ
8. หลังคลอด 2 สัปดาห์แล้วยังคลำได้ก้อนทางหน้าท้อง

คำแนะนำสำหรับคุณแม่หลังคลอดบุตรในเรื่องต่างๆที่ควรรู้และปฏิบัติ

การรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีคุณค่าเพื่อส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรง และผลิตน้ำนมได้เพียงพอ เช่น อาหารพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ ถั่ว ไข่ นมสด ผัก และผลไม้ทุกชนิด ดื่มน้ำอย่างน้อย วันละ 6-8 แก้ว อาหารที่ควรงดได้แก่ อาหารรสจัดของหมักดอง น้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์เนื่องจากสามารถผ่านทางน้ำนมได้

การพักผ่อน ควรพักผ่อนมากๆใน 2 สัปดาห์แรกโดยในตอนกลางวันควรพักผ่อนประมาณ 1-2 ช่วโมงหรือพักผ่อนในช่วงที่ทารกหลับ ส่วนในตอนกลางคืนควรพักผ่อนอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง

การทำงาน ในระยะ 2 สัปดาห์แรกหลังคลอดสามารถทำงานบ้านเบาๆ ได้ไม่ควรยกของหนักหรือทำงานที่ต้องออกแรงมาก เพราะกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆยังไม่แข็งแรงซึ่งอาจทำให้มดลูกหย่อนภายหลังได้ หลังคลอด 2 สัปดาห์ไปแล้วค่อยๆทำงานเพิ่มขึ้นทีละน้อยจนครบ 6 สัปดาห์จึงทำงานได้ตามปกติ

การรักษาความสะอาดของร่างกาย ควรอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ไม่ควรแช่ในอ่างน้ำ หรือแม่น้ำลำคลองเพราะเชื้อโรคอาจผ่านเข้าไปในดพรงมดลูกทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ควรสระผมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ตัดเล็บให้สั้นเสื้อผ้าต้องสะอาดอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายสะอาดสามารถดูแลบุตรในวัยทารกแรกเกิดได้ ไม่ติดเชื้อหรืออันตรายต่างๆจากผู้ที่ให้การเลี้ยงดู

การดูแลรักษาเต้านมและหัวนม ควรล้างให้สะอาดขณะอาบน้ำ และเช็ดทุกครั้งหลังให้นมเพราะอาจมีคราบน้ำนมแห้งติดทำให้หัวนมแตกเป็นแผลได้ ควรสวมเสื้อยกทรงพยุงเต้านมไว้ เนื่องจากเต้านมจะมีขนาดโตขึ้นอาจทำให้เต้านมหย่อนได้ภายหลัง

การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ ภายนอกควรทำควาสะอาดด้วยสบู่และล้างด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่อาบน้ำและหลังการถ่ายปัสสาวะ หรืออุจาระและซับให้แห้งจากด้านหน้าไปหลัง เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคจากรูทวารหนักมาเข้าสู่ช่องคลอดได้จากนั้นใส่ผ้าอนามัยที่สะอาดเพื่อรองรับน้ำคาวปลาที่ออกมา ป้องกันติดเชื้อควรเปลี่ยนผ้าอนามัยเมื่อชุ่มหรือทุก 3-4 ชั่วโมง

การมีเพศสัมพันธุ์ ควรงดจนกว่าจะได้รับการตรวจหลังคลอดเมื่อครบ 4-6 สัปดาห์แล้วว่าไม่มีภาวะผิดปกติทั้งนี้ เนื่องจากช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ยังมีแผลในโพรงมดลูกน้ำคาวปลา และมีแผลเย็บยังไม่ติดดีอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

ข้อมูลจากโรงพยาบาลธนบุรี

วิธีการการบริหารร่างกายหลังคลอดสำหรับคุณแม่

วิธีการการบริหารร่างกายหลังคลอดสำหรับคุณแม่
วิธีการการบริหารร่างกายหลังคลอดสำหรับคุณแม่

วิธีการการบริหารร่างกายหลังคลอดสำหรับคุณแม่

วันนี้จะมาแนะนำท่าการบริหารร่างกายหลังคลอด ที่สามารถทำได้เองทั้งหมด 5 ท่า ลองทำตามกันได้เลยสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดน้อง

ท่าที่ 1 การหายใจ(Break thing Exercise)

ทำได้ตั้งแต่หลังคลอดวันแรก (ครบ 12 ชั่วโมง)

ประโยชน์
ช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในปอด และช่วยในการไหลเวียนเลือด ตลอดจนช่วยลดอาการไม่สุขสบายหลังคลอดได้แก่ ภาวะท้องอืด ท้องผูก ถ่ายปัสาวะลำบาก ซึ่งอาการเหล่านี้มาจากการการคั่งของการไหลเวียนเลือดบริเวณหน้าท้อง และการหย่อนของกล้ามเนื้อหน้าท้อง(Sluggish abdominal circulation) และยังช่วยกระตุ้นร่างกายและจิตใจมารดาให้สดชื่นมีความปลอดภัย การบริหารท่านี้ สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่มีอันตรายใดๆ

วิธีฝึกหัด

จัดท่าโดยนอนหงายราบบนพื้นซึ่งแข็ง ศรีษะไม่หนุนหมอน นอนตัวตรง ไม่เกร็ง ชันเข่าทั้งสองข้าง เท้าขนานกัน แขนซ้ายวางราบกับื้นตามสบาย ส่วนแขนขวาวางมือไว้บริเวณหน้า ท้องเพื่อใช้ทดสอบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อท้องเวลาบริหาร เริ่มหายใจเข้าทางจมูกช้าๆ พร้อมกับดันผนังหน้าท้องให้พองหรือป่องออกมาแล้ว ค่อยๆผ่อนลมหายใจออกช้าๆ พร้อมกับแขม่วหน้าท้องให้ยุบหรือแฟบลงเต็มที่ให้หลังชิดทีทนอนนับเป็น 1 ครั้ง ทำทั้งหมด 10 ครั้ง

ท่าที่ 2 บริหารกายส่วนขา(Leg Exercise)

ทำได้ตั้งแต่หลังคลอดวันแรก(ครบ 12 ชั่วโมง) เช่นเดียวกับท่าแรกท่านี้เป็นวิธีบริหารกล้ามเนื้อขาและข้อเท้า

ประโยชน์
ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณขาและเท้า ป้องกันการเกิดอักเสบหรือการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ(Deep vein thrombosis) การบริหารท่านี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง ไม่อ่อนล้า ไม่เป้นตะคริว และสามารถทรงตัวได้ดี

วิธีฝึกหัด

อยู่ในท่านอนหงายราบ ไม่หนุนหมอน ลำตัวเหยียดตรง แขนทั้งสองข้างวางข้างลำตัว กระดกข้อเท้าและปลายเท้าทั้งสองข้างขึ้นจนรู้สึกว่าน่องตึงแล้วกระดกหรือกดข้อเท้าและปลายเท้าลงเป็นนับเป็น 1 ครั้ง ให้ทำ 10 ครั้ง เกร็งกดนิ้วเท้าและข้อเท้าลงหมุนช้าๆ เข้าหาเป็นวงกลมทำให้ครบ 10 รอบ กระดกข้อเท้าและปลายเท้าขึ้นหมุนแยกออกจากกันเป็นวงกลมทำให้ครบ 10 ครั้ง ก่อนจะจบท่านี้ให้กระดกข้อเท้าลงอีกสักพัก 2-3 ครั้ง

ท่าที่ 3 บริหารกายส่วนบน Upper trunk movement

เริ่มทำได้ตั้งแต่หลังคลอดครบ 24 ชั่วโมง (เข้าสู่วันที่ 2 ของการคลอด)

ประโยชน์
ช่วยให้กล้ามเนื้อหลังส่วนบนได้รับการผ่อนคลาย ข้อต่อต่างๆ ของกระดูกสันหลังได้เคลื่อนไหว ช่วยลดการปวดต้นคอและหลังและช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดี

วิธีฝึกหัด

อยู่ในท่านอนหงายราบ ไม่หนุนหมอน ขาชิด เท้าชิด แขนและมือวางแนบลำตัว ฝ่ามือแนบโดนขาทั้งสองข้าง ยื่นมือขวา แขนขวา ศรษะ คอ และไหล่ขวา ไปทางขวา แล้วกลับมาอยู่ในแนวตรง ยื่นมือซ้าย แขนซ้าย ศรีษะ คอ และไหล่ซ้ายตามไปทางซ้าย แล้วกลับอยู่ในแนวตรง ทำสลับกันขวาและซ้าย โดยทำขวา-ตรง,ซ้าย-ตรง ทำจนครบ 10 ครั้ง

ท่าที่ 4 บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor exercise)

เริ่มทำได้ตั้งแต่มารดาคลอดครบ 48 ชั่วโมง(เข้าสู่วันที่ 3 ของการคลอด)

ประโยชน์
ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานแข็งแรง กล้ามเนื้อบริเวณทางคลอดกระชับ ทำให้เอ็นยึดมดลูกแข็งแรงป้องกันการเคลื่อนต่ำของมดลูกและทำให้แผลฝีเย็บหายเร็วเนื่องจาก มีการไหลเวียนของหลอดเลือดดี ทั้งช่วยลดอาการปวดหลังอีกด้วย

วิธีฝึกหัด

อยู่ในท่านอนหงายราบไม่หนุนหมอน ลำตัวตรง ชันเข่า ข้อเท้าและปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย วางแขนและฝ่ามือคว่ำแนบราบกับพื้น สูดหายใจเข้าช้าๆ ทางจมูกพร้อมกับขมิบก้นให้กระชับ นับ1-2-3-4 ในใจจึงคลายออกและหายใจออกพร้อมกับค่อยๆวางก้นและสะโพกลงกับพื้น เริ่มต้นใหม่แบบเดิม ทำจนครบ 10 ครั้ง

ท่าที่ 5 บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง Abdominal music Exercise

เริ่มทำได้ตั้งแต่มารดาคลอดครบ 72 ชั่วโมง (เข้าสู่วันที่ 4 ของการคลอด)

ประโยชน์
ช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรง โดยเฉพาะ

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลธนบุรี

วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เคล็ดลับที่ดีเพื่อสุขภาพหัวใจ

เคล็ดลับที่ดีเพื่อสุขภาพหัวใจ
เคล็ดลับที่ดีเพื่อสุขภาพหัวใจ

เคล็ดลับที่ดีเพื่อสุขภาพหัวใจ

ดูแลตัวเองจากโรคที่เป็นภัยเงียบ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ควบคุมระดับความดันโลหิต น้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในคนที่ไม่เคยออกกำลังกาย ในช่วง 1-2 เดือนแรก แนะนำให้เริ่มจากเดินครึ่งชั่วโมง เมื่อร่างกายเริ่มคุ้นกับการออกกำลังกายแล้ว อาจจะเดินหรือวิ่งให้มากขึ้นได้ การออกกำลังกายเป็นวิธีการเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันชนิดดี และลดไขมัน LDL ซึ่งเป็นไขมันชนิดร้ายได้ดีที่สุด

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ อาหารที่มีเส้นใยสูง ไขมันต่ำ

เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นต้นเหตุสำคัญของโรคหัวใจ ในคนที่สูบบุหรี่จะมีไขมัน HDL ต่ำลง พบว่าการหยุดสูบบุหรี่จะทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจลงครึ่งหนึ่งภายใน 1 ปี และเมื่อหยุดเกิน 5 ปี ถือว่าปัจจัยเสี่ยงกลับมาสู่ภาวะปกติ

มีงานวิจัยพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยๆ ให้ผลดีกับหัวใจ เช่น ไวน์แดงไม่เกินวันละ 2 แก้ว

หากรักษาด้วยการใช้ยา ควรรับประทานยาต่อเนื่องและพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามการรักษาทุกครั้ง

หัวใจอวัยวะสำคัญของร่างกาย หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดชีวิต

หัวใจอวัยวะสำคัญของร่างกาย หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดชีวิต
หัวใจอวัยวะสำคัญของร่างกาย หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดชีวิต

จากสถิติพบว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ในแต่ละวันมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากถึง 236 คน หรือกว่า 85,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกๆ ปี และโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดคือ “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน”

ก่อนที่จะทำความรู้จักกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ควรทำความรู้จักกับหัวใจและความสำคัญของหัวใจ เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมเราจึงไม่อาจละเลยการดูแลอวัยวะชิ้นนี้ได้

หัวใจมีขนาดเท่ากำปั้นของเรา มีทั้งหมด 4 ห้อง ทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายประมาณ 5 ลิตร/นาที โดยห้องซ้ายบนทำหน้าที่รับเลือดจากปอดและส่งมาห้องซ้ายล่างเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงตามร่างกาย ส่วนห้องขวาบนรับเลือดจากร่างกาย และส่งไปห้องขวาล่างเพื่อไปฟอกเลือดที่ปอด

เพราะฉะนั้น หัวใจจึงเป็นเสมือนศูนย์กลางการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงตามร่างกาย ถ้าหัวใจไม่แข็งแรง ส่วนอื่นก็จะอ่อนแอตามไปด้วย เนื่องจากอาจได้รับเลือดไม่เพียงพอ

แต่นอกจากหัวใจจะส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายแล้ว ตัวหัวใจเองก็ต้องการเลือดมาหล่อเลี้ยงด้วยเช่นกัน หัวใจจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงอยู่ 3 เส้น ด้านขวา 1 เส้นและด้านซ้าย 2 เส้น หลอดเลือดทั้งสามเส้นนี้จะทำหน้าที่ในการส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทุกส่วน จึงมีความสำคัญมาก ถ้าหลอดเลือดหัวใจเกิดความผิดปกติ เช่น ตีบ อุดตัน ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนเลือด ส่งผลต่อหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ได้

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นโรคของความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากไขมันที่ไปเกาะผนังหลอดเลือด ซึ่งหากพอกหนาขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้หลอดเลือดตีบ หากหลอดเลือดตีบถึงระดับหนึ่ง ไขมันอาจแตกและกระตุ้นให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดมาอุดตัน เป็นสาเหตุของการเกิดหัวใจพิบัติ (heart attack)

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ มีทั้งปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ อายุ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย เพศ โดยเพศชายจะพบบ่อยกว่าเพศหญิง และปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง ความอ้วน เบาหวาน การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับอาการผิดปกติของหัวใจ ที่น่าสนใจคือ โรคหัวใจบ่อยครั้งจะไม่มีอาการ (พบได้ 30-40%) ในรายที่มีอาการ อาจมีอาการไม่สุขสบายเหมือนมีของหนักมาทับ หายใจไม่เต็มอิ่ม แน่นๆ เหนื่อยๆ เจ็บเหมือนถูกบีบ บางครั้งอาการอาจปรากฎไปถึงต้นคอหรือหัวไหล่ หรือลงมาที่หน้าท้อง (ในบริเวณเหนือกว่าสะดือขึ้นไป) ส่วนอาการเจ็บหน้าอกจะพบในคนตะวันตกมากกว่า ในคนแถบเอเชียพบน้อย ส่วนใหญ่มักเป็นอาการแน่นๆ เหนื่อยๆ มากกว่า

วิธีที่จะบอกได้อย่างแม่นยำที่สุดคือ การสังเกตตัวเอง หากมีอาการเหนื่อยเร็วผิดปกติ เหนื่อยเร็วกว่าเดิมโดยหาสาเหตุไม่ได้ เช่น เคยออกกำลังกาย เดินได้ 3 กิโลเมตร อยู่ๆ เดินได้แค่ 2 กิโลเมตรก็เหนื่อยแล้ว หากสงสัยว่าตัวเองอาจเป็นโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อมาพบแพทย์แล้ว สิ่งที่แพทย์จะทำคือตรวจร่างกาย ซักประวัติหาปัจจัยเสี่ยง ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติไม่ได้หมายความว่าหัวใจจะปกติด้วย หลังการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากแพทย์ยังสงสัยว่าอาจเป็นโรคหัวใจ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มโดยให้ผู้ป่วยเดินสายพาน หรือใช้วิธีอื่นๆ เช่น การใช้สารนิวเคลียร์ การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจสวนหัวใจ (การฉีดสี) ซึ่งแต่ละวิธีจะมีข้อบ่งชี้แตกต่างกันไป แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับการรักษา แพทย์จะทำการประเมินโดยพิจารณาจากอาการของผู้ป่วย ถ้ามีอาการไม่มาก วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ยา ซึ่งผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาต่อเนื่อง พบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อให้คุมโรคได้ดี

แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นมาก แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนหรือการผ่าตัดบายพาส (การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ) ซึ่งถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการหัวใจพิบัติ การรักษาจะต้องรีบเปิดหลอดเลือดหัวใจทันที แต่ถ้าอยู่ในสถานที่ที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่พร้อม ทางเลือกหนึ่งที่ใช้กันก็คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจเข้ารับการรักษา ยิ่งตัดสินใจเร็วเท่าไร ยิ่งช่วยหัวใจได้มากขึ้นเท่านั้น

ทราบถึงความสำคัญของหัวใจและอันตรายของโรคไปแล้ว อย่ารอช้า รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อดูแลหัวใจให้มีสุขภาพดี โดยหลักสำคัญของการป้องกันหัวใจไม่ให้เกิดความผิดปกติ คือ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีเส้นใยสูง ไขมันต่ำ และออกกำลังกายเป็นประจำ

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

มารู้จัก โรคตาในผู้สูงวัย ว่ามีอะไรบ้าง

มารู้จัก โรคตาในผู้สูงวัย ว่ามีอะไรบ้าง
มารู้จัก โรคตาในผู้สูงวัย ว่ามีอะไรบ้าง
มารู้จัก โรคตาในผู้สูงวัย ว่ามีอะไรบ้าง

โรคตาแห้ง
เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากอายุที่มากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมถึงโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน รูมาตอยด์ ไทรอยด์ ต้อกระจก หรือในคนที่ทำเลสิก ใส่คอนแทคเลนส์มานานเป็นสิบปี นอกจากนี้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต ก็ทำให้เกิดตาแห้งได้เช่นกัน

อาการโรคตาแห้ง
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตา คันตา ไม่สบายตา หรือตาแดงบ่อยๆ รู้สึกเคืองตา คันตา เมื่อทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ในบางรายอาจมีน้ำตาไหลตลอดเวลา ซึ่งมักเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยสงสัยเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นตาแห้ง ทั้งนี้เนื่องจากภาวะตาแห้งทำให้มีการระคายเคืองตา เมื่อมีการระคายเคืองเรื่อยๆ จะไปกระตุ้นปฏิกิริยาของร่างกายให้มีการสร้างน้ำตาขึ้นมามาก ดังนั้นสาเหตุของการมีน้ำตาไหลคือตาแห้ง ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องหยอดน้ำตาเทียมเพื่อรักษาอาการน้ำตาไหลที่เกิดเนื่องจากภาวะตาแห้ง

การรักษาโรคตาแห้ง
ผู้ป่วยสามารถเริ่มต้นได้จากการป้องกันดวงตาด้วยตนเอง เช่น กะพริบตาบ่อยๆ ในขณะอ่านหนังสือหรือทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ ใส่แว่นตากันลม หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและควัน และหยอดน้ำตาเทียม ซึ่งในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีสารกันเสีย ส่วนใหญ่จะใช้ในคนที่เป็นไม่มาก และชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย ใช้ในผู้ป่วยที่ต้องหยอดตาบ่อยๆ

ในกรณีที่ใช้น้ำตาเทียมแล้ว ผู้ป่วยยังมีอาการตาแห้งรุนแรงอยู่ แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการอุดท่อน้ำตาเพื่อลดการระบายออกของน้ำตา ในรายที่เป็นไม่มากอาจใช้การอุดแบบชั่วคราว แต่ถ้าเป็นรุนแรงมากอาจใช้วิธีการอุดแบบถาวร

ต้อกระจก
คือ ภาวะที่เลนส์ตาเกิดการขุ่น (ภาวะปกติจะใส) ทำให้แสงผ่านเข้าตาได้น้อยลง จึงมองเห็นได้ไม่ชัดเจน อาจมีสาเหตุจากอายุ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น เบาหวาน

อาการต้อกระจก
ขึ้นกับความรุนแรงของโรค แล้วแต่ว่าเลนส์ตาขุ่นมากน้อยเพียงใด อาการที่อาจพบได้ เช่น มองเห็นสีทึมๆ ไม่สดใส มองเห็นได้ไม่ชัดเจนเหมือนเคยในที่ที่มีแสงเท่าเดิม มองเห็นภาพซ้อน มองไม่เห็นเมื่อมีแสงจ้าหรือสู้แสงไม่ได้ ขับรถแล้วมองแสงไฟสะท้อนจากรถฝั่งตรงข้ามไม่ได้ เป็นต้น

การรักษาต้อกระจก
ทำได้โดยการผ่าตัดต้อกระจกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน วิธีที่นิยมใช้ในการรักษา คือ การสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวนด์แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไป วิธีนี้ส่วนใหญ่ไม่ต้องเย็บแผล จึงสามารถฟื้นตัวได้เร็ว แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องทำการผ่าตัดแบบที่ต้องเปิดแผลใหญ่ เพื่อเอาต้อกระจกออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งได้ผลดีเช่นกันแต่การหายของแผลจะช้ากว่า

ต้อหิน
เป็นโรคที่มีการทำลายของเส้นประสาทตา โดยส่วนใหญ่เกิดจากความดันในลูกตาสูง จัดเป็นโรคที่เป็นภัยเงียบเพราะสามารถทำให้ตาบอดอย่างช้าๆ ได้

ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงจะเป็นต้อหิน ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหินมาก่อน ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ใช้ยาบางอย่าง เช่น สเตียรอยด์ (การใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ควรใช้ในขนาดและตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น อย่าซื้อยามาใช้เอง เพราะการใช้ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ต่อเนื่องกันนานๆ อาจทำให้เกิดต้อหินได้)

อาการต้อหิน
ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคต้อหิน เนื่องจากโรคจะค่อยๆ ดำเนินไปอย่างช้าๆ โดยเริ่มจากการมองเห็นที่ลดลงทางด้านข้าง (ยังมองเห็นตรงกลางได้ชัดเจน) จนตาบอดสนิทได้ในผู้ป่วยต้อหินระยะสุดท้าย ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดตาเล็กน้อย เมื่อรับประทานยาก็หาย จึงไม่ได้ให้ความสำคัญ สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันตาสูงมากเฉียบพลัน อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ตาแดง อาเจียน มองเห็นไฟเป็นดวงๆ กระจัดกระจาย แต่พบกรณีนี้ได้น้อยกว่าผู้ที่มีความดันตาสูงกว่าปกติเพียงเล็กน้อย

การรักษาต้อหิน
ทำได้โดยการรักษาด้วยยาหยอดตาเพื่อรักษาสมดุลของความดันตา โดยอาจจะลดการสร้างน้ำในลูกตาหรือทำให้มีการระบายน้ำมากขึ้น ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการทำเลเซอร์ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาหรือมีอาการรุนแรง แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ทั้งนี้โรคต้อหินหากเริ่มต้นรักษาได้เร็วจะช่วยหยุดความรุนแรงของโรคได้มากขึ้น ถ้าปล่อยไว้จนตาบอดจะไม่สามารถแก้ไขได้

จอตาเสื่อมในผู้สูงวัย
เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของจุดศูนย์กลางของจอตา ซึ่งเป็นจุดรับภาพที่ทำให้เรามองเห็น โรคนี้แบ่งออกเป็นชนิดแห้งและชนิดเปียก โดยชนิดแห้งเป็นชนิดที่พบได้มากกว่า เซลล์ประสาทตาบริเวณจุดรับภาพจะค่อยๆ เสื่อมไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ตามอายุ ใช้เวลานาน จนถึงระยะท้าย ผู้ป่วยจะมองไม่เห็นตรงกลาง แต่จะมองเห็นด้านข้างได้ (ตรงกันข้ามกับต้อหิน) ส่วนชนิดเปียก พบได้น้อยกว่าแต่รุนแรงกว่าชนิดแห้ง เนื่องจากมีการเสื่อมของจอตาร่วมกับมีการสร้างเส้นเลือดผิดปกติใต้จอตา ทำให้จอตาบวมและมีเลือดออกได้ ส่งผลให้ตามัวเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจมองไม่เห็นทันทีได้

ปัจจัยเสี่ยงของจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย ได้แก่ อายุที่มากขึ้น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน (ในรุ่นลูกจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นในอายุที่ลดลงมา เช่น คุณพ่อคุณแม่เป็นเมื่ออายุ 60 ปี ลูกอาจมีโอกาสเป็นในขณะอายุ 50 ปี) ผู้ที่ต้องอยู่กลางแดดนานๆ เช่น วิศวกรที่ทำงานกลางแดดตลอดเวลา ผู้ที่สูบบุหรี่ อ้วน เป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยโรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย
ขึ้นกับชนิดที่เป็น ผู้ป่วยที่เป็นจอตาเสื่อมชนิดแห้ง อาจมาด้วยอาการมองไม่เห็นส่วนกลางของภาพหรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นจอตาเสื่อมชนิดเปียก อาจมีอาการตามัวเฉียบพลัน มองไม่เห็นในทันทีได้

การรักษาจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย
เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งไม่ให้โรคดำเนินต่อ ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด วิธีการรักษามีหลายวิธี เช่น การใช้เลเซอร์ทำลายเส้นเลือดที่ผิดปกติ การผ่าตัด วิธีที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การฉีดยาเข้าในน้ำวุ้นตาโดยตรงเพื่อยับยั้งการหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งพบว่าวิธีนี้นอกจากจะช่วยลดการสูญเสียการมองเห็นแล้ว ยังช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นในผู้ป่วยบางรายด้วย แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือ ต้องฉีดยาซ้ำ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษาตามการตอบสนองของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค

เบาหวานขึ้นตา
แม้โรคนี้จะไม่ขึ้นกับความเสื่อมโดยตรงจากอายุ แต่พบว่าเมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานก็มากขึ้น และโรคเบาหวานเองก็เป็นโรคที่ทำร้ายสุขภาพของดวงตาอย่างมาก โดยสามารถทำให้เกิดโรคตาแห้ง ทำให้เกิดต้อกระจกได้มากขึ้น และทำให้มีความเสี่ยงของต้อหินมากกว่าคนปกติ แต่ที่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานคือ เบาหวานขึ้นจอประสาทตา

อาการเบาหวานขึ้นตา
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ บางรายอาจมาด้วยอาการตามัว มองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว เห็นเงาดำลอยไปมา ในรายที่เป็นต้อหินจากเบาหวาน อาจมีอาการปวดตาร่วมด้วย

การรักษาเบาหวานขึ้นตา
แพทย์จะทำการตรวจดูว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติอย่างไรและให้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ผู้ป่วยที่มีเลือดออกหรือจุดรับภาพบวม อาจต้องใช้การรักษาด้วยเลเซอร์หรือฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา ผู้ป่วยที่มีพังผืดดึงรั้งทำให้เกิดการหลุดลอกของจอประสาทตา อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานคือ ต้องพยายามควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและเข้ารับการตรวจตาโดยเร็วที่สุด เพราะการตรวจพบความผิดปกติในระยะแรก จะช่วยลดความสูญเสียของการมองเห็นได้อย่างมาก

โดยสรุป แม้ผู้สูงอายุจะยังไม่พบความผิดปกติของดวงตาก็ควรเข้ารับการตรวจตากับจักษุแพทย์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่มีปัญหาตารุนแรง เช่น เป็นต้อหิน ควรเข้ารับการตรวจบ่อยครั้งกว่าปกติ นอกจากนี้ ในผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ควรปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เช่น งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก และที่สำคัญที่สุดคือ หมั่นตรวจเช็กดวงตาของตนเองอยู่เป็นประจำ โดยการปิดตาทีละข้าง ดูว่ายังมองเห็นเป็นปกติหรือไม่ เห็นเส้นตรงเป็นเส้นโค้งหรือคดหรือไม่ หรือมีเงาลอยไปมาหรือไม่ ถ้าพบความผิดปกติใดๆ ก็ตามให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพตาที่ดีและมีความสุขกับการมองเห็นที่สดใสได้อย่างยาวนาน

ขอมูลและเรียงเรียงโดย พญ.เมทินี ศิริมหาราช จักษุแพทย์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้นใช่การตรวจภายในหรือไม่

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญของการตรวจภายใน ซึ่งประกอบด้วยอีก 2 ขั้นตอน คือ การตรวจโดย การดู การคลำอวัยวะภายนอกและภายในอุ้งเชิงกรานของสตรี และการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการอัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนล่าง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนี้ตรวจเพื่อค้นหารอยโรคที่ปากมดลูกตั้งแต่รอยโรคระยะก่อนมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูกระยะแรกเริ่มซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า รอยโรคระยะก่อนมะเร็งและมะเร็งปากมดลูก ส่วนมากมักไม่มีอาการใด ๆ บ่งบอกว่าเป็นโรคนี้ กว่าจะมีอาการมักเกิดการลุกลามจากมะเร็งแล้ว เช่น ตกขาว, เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด, ปวดท้องน้อย, ท่อไตบวมจากการอุดกั้นของมะเร็งที่ลุกลามมาจนอาจเกิดภาวะไตวาย เป็นต้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีวิธีที่ใช้ในการตรวจ ดังนี้

Conventional Pap smear เป็นวิธีที่ใช้ตรวจกันมานานที่สุด โดยจะนำเนื้อเยื่อที่เก็บได้จากปากมดลูกไปตรวจหาเซลล์ผิดปกติ สามารถตรวจหาความผิดปกติได้ประมาณ 50 % Liquid based cytology วิธีที่พัฒนาขึ้นมาจาก Pap smear ให้ตรวจหาความผิดปกติได้ดีขึ้นจากเนื้อเยื่อของปากมดลูก ซึ่งตรวจพบได้ประมาณ 70 % HPV testing คือ การตรวจหาไวรัส HPV สายพันธุ์รุนแรงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มาตรวจร่วมกับ วิธีที่ 1 และ 2 เพื่อให้คัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีประสิทธิภาพในการตรวจพบความผิดปกติได้เกือบ 100 %

สตรีควรตรวจการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เมื่อ

อายุตั้งแต่ 21-25 ปี หรือมีเพศสัมพันธ์แล้วอย่างน้อย 3 ปี ผู้หญิงที่เคยมีตรวจผิดปกติแล้ว ควรตรวจสม่ำเสมอตามแพทย์นัด ผู้ที่ได้รับ HPV vaccine แล้วยังคงต้องตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับ ผู้ที่ไม่ได้รับ vaccine การตรวจภายในนั้น ควรตรวจทุก 1 ปี ส่วนการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้น อาจตรวจได้ทุก 3 ปี

การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหยุดได้ เมื่อ

เมื่ออายุ 65-70 ปี โดยที่ผลการตรวจคัดกรองปกติ 3 ครั้ง ใน 10 ปี ก่อนหยุดตรวจ ผู้หญิงที่ผ่าตัดเอามดลูกออกแล้ว ร่วมกับมีผลการตรวจก่อนหน้าปกติ

การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น แต่ถ้าผลพบความผิดปกติ สงสัยว่ามีการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์รุนแรง รอยโรคระยะก่อนมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูกระยะแรกที่ไม่เห็นด้วยตาเปล่า ควรกลับมาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมโดยการตรวจด้วยกล้องขยายทางช่องคลอด หรือที่เรียกว่า “Colposcopy” สามารถช่วยหารอยโรคผิดปกติที่ปากมดลูก และอาจตัดชิ้นเนื้อเล็ก ๆ ไปตรวจยืนยันวินิจฉัยโรคก่อนจึงจะสามารถพิจารณาการรักษาตามความรุนแรงของโรค เพื่อป้องกันไม่ให้รอยโรคพัฒนากลายเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้ในอนาคต

ข้อมูลดีๆจาก โรงพยาบาลธนบุรี

วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติ-นรีเวช ดีอย่างไร

การตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติ-นรีเวช ดีอย่างไร
การตรวจอัลตราซาวด์ทางสูติ-นรีเวช ดีอย่างไร

Ultrasounography คือ การส่งคลื่นเสียงความถี่สูงออกไปจากหัวตรวจ เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งความสามารถในการผ่านและการสะท้อนกลับไม่เท่ากัน หัวตรวจจะทำหน้าที่รับสัญญาณคลื่นเสียงสะท้อนกลับระดับต่างๆ ซึ่งบอกถึงความหนาแน่น และความลึกของเนื้อเยื่อนั้นๆ แล้วนำสัญญาณที่ได้รับมาประมวลผลสร้างเป็นภาพขึ้นมา

ประโยชน์ที่นำมาใช้ทางการแพทย์แบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ

1. ด้านนรีเวชกรรม นำมาช่วยตรวจวินิจฉัยลักษณะมดลูก เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก ลักษณะรังไข่ที่ปกติและผิดปกติ

2. ใช้เครื่องมือตรวจทางหน้าท้อง ซึ่งการตรวจผ่านทางหน้าท้องใช้เครื่องความถี่ต่ำ ทำให้ได้รายละเอียดน้อยแต่การการผ่านของคลื่นไปได้ไกลเหมาะสำหรับตรวจดูในสภาพกว้างในการตรวจทางด้านหน้าท้องต้องกลั้นปัสสาวะให้มีน้ำในกระเพาะปัสสาวะเพื่อเป็นตัวนำเสียงไปยังอุ้งเชิงกรานได้ดี

3. ใช้เครื่องมือตรวจผ่านสอดเข้าไปทางช่องคลอด ซึ่งการตรวจทางช่องคลอดใช้เครื่องความถี่สูง ทำให้ตรวจได้ละเอียดมากแต่คลื่นเสียงผ่านได้ไม่ไกล ได้พื้นที่ในการตรวจน้อยสำหรับสำหรับดูสิ่งเล็กๆที่ต้องการรายละเอียด สำหรับการตรวจทางช่องคลอดนั้นผู้ป่วยจะต้องปัสสาวะทิ้งก่อนตรวจ เพื่อให้เครื่องมือใกล้ชิดกับอวัยวะที่ต้องการตรวจ

4. ด้านสูติกรรม ใช้ตรวจพิสูจน์ยืนยันการตั้งครรภ์ว่าตั้งครรภ์ในหรือนอกมดลูก คำณวนอายุครรภ์จากขนาดของถุงการตั้งครรภ์ หรือขนาดของทารก ดูว่ามีการเจริญของทารกในครรภ์เป็นปกติหรือไม่ ค้นหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ ดูลักษณะของรกและน้ำคร่ำ ดูความผิดปกติเล็กน้อยที่แสดงถึงความผิดปกติทางโคโมโซม เช่น ความหนาของผิวหนังต้นคอ น้ำในโพรงสมองของทารก เป็นต้น

อัลตราซาวด์ 3 และ 4 มิติ

ภาพจากการอัลตราซาวด์โดยทั่วไปเป็นภาพชนิด 2 มิติ คือมิติด้านกว้างและด้านยาว ส่วนภาพอัลตราซาวด์ 3 มิติและ4 มิติ ชนิดของหัวตรวจและการประมวลภาพจะซับซ้อนมากขึ้นที่สามารถส่งคลื่นเสียงในลักษณะหลายระนาบเก็บข้อมูลติดต่อกันส่งไปประมวลผลและสร้างภาพ 3 มิติ คือมีความลึกเหมือนของจริง ส่วนอัลตราซาวด์ 4 มิติ เกิดภาพเคลื่อนไหว

ประโยชน์ของการตรวจอัลตราซาวด์ 3 มิติและ4 มิติ

· ภาพที่ได้เหมือนจริงก่อให้เกิดความเข้าใจ
· สร้างความรักความผูกพันระหว่างมารดาและบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์
· สามารถตรวจหาความผิดปกติโดยเฉพาะความผิดปกติที่พื้นผิว เช่น ปากแหว่ง
· สามารถเห็นอิริยาบถต่างๆรวมทั้งหน้าตาของลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ข้อมูลดีๆจาก โรงพยาบาลธนบุรี

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

รักษาอาการปวดด้วยการฝังเข็ม ทำได้หรือไม่

รักษาอาการปวดด้วยการฝังเข็ม
รักษาอาการปวดด้วยการฝังเข็ม

อาการปวดเป็นอาการที่พบได้ในคนทั่ว ๆ ไป มีระดับความรุนแรงของความรู้สึกปวดแตกต่างกัน ตั้งแต่ปวดพอรู้สึกรำคาญไปจนถึงปวดอย่างรุนแรง ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด

ประเภทของการปวด

1. ปวดแบบเฉียบพลัน
2. ปวดแบบเรื้อรัง

อวัยวะที่สามารถเกิดอาการปวด จะเป็นได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า โดยอาจจะปวดจากผิวหนัง กล้ามเนื้อ

เอ็น ข้อต่อ กระดูก เส้นเลือด อวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหาร มดลูก เป็นต้น

หลักการรักษาอาการปวดก็คือ

1. บรรเทาอาการปวดโดยวิธีต่าง ๆ เช่น

ใช้ยา
ใช้วิธีทางกายภาพ เช่น ประคบร้อน-เย็น ใส่เฝือกหรือพันผ้า
ใช้การผ่าตัด
ใช้การฝังเข็ม

2. รักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด โดยเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับสาเหตุนั้น ๆ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การยอมรับว่าการฝังเข็มสามารถรักษาอาการปวดได้ผลดี โดยสามารถรักษาได้ทั้งอาการปวดแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งจะมีการเลือกใช้ตำแหน่งของจุดฝัง เข็มแตกต่างกันตามอวัยวะที่เป็นสาเหตุ ของอาการปวด

การฝังเข็มสามารถรักษาอาการปวดได้เนื่องจาก

1. เพิ่มการหลั่งสารเคมีของร่างกายที่มีฤทธิ์ลดอาการปวด ได้แก่

Serotonin
Norepinephrine
Substance
GABA
Dopomine
ACTH
B-Eudorphin
Enkephatin
Dynorphin

2. เพิ่มการหลั่งสารเคมีของร่างกายที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ได้แก่

Cortisol

3. เพิ่มเลือดไปเลี้ยงเฉพาะที่ เนื่องจากทำให้เกิด vasodilatation เป็นการช่วยระบายของเสียที่ทำให้เกิดอาการปวด และนำสารที่ลดอาการปวดเข้าสู่อวัยวะนั้น

การฝังเข็มเป็นการรักษาอาการปวดโดยไม่ต้องใช้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการแพ้ยา ผลข้างเคียง จากยา และปัญหาการติดยาแก้ปวด รวมทั้งเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่เคยรักษาอาการปวดด้วยวิธีการอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก คลินิกแพทย์แผนจีน รพ.ไทยนครินทร์

การฝังเข็มคืออะไร และรักษาโรคได้อย่างไร

การฝังเข็มคืออะไร และรักษาโรคได้อย่างไร
การฝังเข็มคืออะไร และรักษาโรคได้อย่างไร

การฝังเข็มเป็นเวชกรรมที่มีมานานเป็นเวลาหลายพันปีในประเทศจีน ปัจจุบันการฝังเข็มได้แพร่หลาย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้ ให้ความสนใจและได้เป็นแกนนำในการเชิญผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประชุมในปี คศ. 1979 ที่นครปักกิ่ง และได้ร่าง “รายชื่ออาการหรือโรคที่อาจพิจารณาให้การฝังเข็มเป็นทางเลือกในการรักษาจำนวน 43 ประเภท”

สำหรับประเทศไทย ประชาชนก็ได้ให้ความสนใจในการศึกษาโรคด้วยการฝังเข็ม เพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็วเช่นกัน

การฝังเข็มคืออะไร

การฝังเข็มคือ การแทงเข็มลงไปบนจุดฝังเข็มตามร่างกายโดยใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนจีน โดยเข็มที่ใช้จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กกว่าเข็มฉีดยา จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย และเป็นเข็มปลอดเชื้อแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ป่วยจึงปลอดภัยจากการติดเชื้อ

การฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร

ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า การฝังเข็มทำให้เกิดการหลั่งของสารชีวเคมีในร่างกายเพิ่มขึ้น มากกว่า 35 ชนิด แล้วแต่ตำแหน่งที่ใช้ฝังเข็ม ซึ่งจะมีผลต่อร่างกายในแง่ช่วยระงับอาการเจ็บปวด ลดการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงเฉพาะที่ ปรับระดับไขมันและสารเคมีอื่น ๆ ในร่างกายให้อยู่ในสภาพ สมดุล รวมทั้งเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย

การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง

กลุ่มอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดคอ
โรคซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดศีรษะจากความเครียด ปวดไมเกรน โดยร่วมกับการทำจิต บำบัด
เลิกยาเสพติด อดบุหรี่ ลดความอ้วน โดยร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด
อัมพาต อัมพฤกษ์ โดยร่วมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพ
โรคภูมิแพ้ หืดหอบ และผื่นคันตามร่างกาย
อาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ปวดประจำเดือน
โรคอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

การฝังเข็มเหมาะสมกับใคร

1. ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรับการรักษาด้วยการใช้ยาซึ่งเป็นการเพิ่มสารเคมีจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย

2. ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาหลาย ๆ ชนิด

3. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำปฏิกิริยาต่อกันของยา

4. ผู้ป่วยที่มีปัญหาหยุดยาที่ใช้รักษาโรคไม่ได้ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ปวด ยาระบาย เป็นต้น

5. ผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาแบบผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนตะวันตกกับการฝังเข็ม

6. ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพโดยการปรับสมดุลภายในร่างกาย

ข้อห้ามในการฝังเข็มมีอะไรบ้าง

โรคเลือดที่มีความผิดปกติของระบบแข็งตัวของเลือด
โรคที่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างแน่นอน
โรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการรักษา)
โรคที่ยังไม่ทราบการวินิจฉัยที่แน่นอน
ตั้งครรภ์

ต้องเตรียมตัวก่อนมารับการฝังเข็มอย่างไร

1. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อ่อนเพลีย

2. ไม่หิวหรืออิ่มเกินไป

3. สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น สามารถรูดขึ้นเหนือศอกและเหนือเข่าได้

4. ไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการฝังเข็ม

5. ขณะฝังเข็มถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งแพทย์ทันที

ระยะเวลาที่ใช้สำหรับการฝังเข็มนานเท่าไร

การฝังเข็มแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ต้องมาฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 – 3 ครั้ง และต่อเนื่อง

ระยะหนึ่งแล้วแต่โรคที่เป็นตามการพิจารณาของแพทย์

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก คลินิกแพทย์แผนจีน รพ.ไทยนครินทร์

วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การผ่าตัดลบรอยสัก และวิธีลบรอยสักแบบต่างๆ

การผ่าตัดลบรอยสัก และวิธีลบรอยสักแบบต่างๆ
การผ่าตัดลบรอยสัก และวิธีลบรอยสักแบบต่างๆ

การผ่าตัดลบรอยสัก

การสัก หมายถึง การนำเม็ดสีต่าง ๆ เข้าสู่ผิวหนังโดยใช้เข็ม หรือของแหลมเล็ก ๆ เข้าสู่ผิวหนัง

เพื่อให้เกิดสีผิวบนผิวหนังนั้น เพื่อประโยชน์ในแง่ความสวยงาม หรือเพื่อประโยชน์ในแง่การแพทย์ หรือเพื่อความเชื่อทางไสยศาสตร์

การสักเพื่อการแพทย์นั้น ได้มีการนำเม็ดสีต่าง ๆ เข้าสู่ผิวหนังภายใต้สภาวะปลอดจากเชื้อโรคต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการปกปิด ทดแทน หรือสร้างเสริมภาวะให้ได้ใกล้เคียงกายวิภาคปกติของมนุษย์ เช่น การสักปานนมในรายที่มีปัญหาสูญเสียเต้านม และได้ทำการผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่

ส่วนการสักเพื่อความสวยงาม หรือเพื่อความเชื่อทางไสยศาสตร์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 พวก

พวกมืออาชีพ ซึ่งฝึกมาโดยตรง และมีทักษะในการทำโดยพวกนี้มีรอยสักที่เป็นระเบียบ บอบบาง มีขอบเขตชัดเจน สีเข้ากันได้ดี

พวกมือสมัครเล่น พวกนี้จะมีรอยสักขอบเขตไม่ชัดเจน และรอยสักมักจะหนากว่าปกติ และมีสีแตกต่างกันชัดเจน

การลบรอยสัก : การลบรอยสักมีวิธีการต่างๆ หลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันไป

การผ่าตัดออก (SURGICAL EXCISION) : เหมาะในรายเป็นรอยสักที่มีขนาดเล็ก หรือเป็นจุด ๆ จะได้มีแผลที่มีขนาดเล็ก แต่ในรายที่มีรอยสักขนาดใหญ่ อาจจะใช้ตัวขยายเนื้อ (TISSUE EXPANSION) ช่วยเหลือได้

การกรอผิวด้วย เครื่องกรอผิว (DERMABRASION) : ในรายที่เป็นรอยสักมืออาชีพ การใช้ การกรอผิวอย่างเดียว หรือร่วมกับการใช้เกลือแกงบริสุทธิ์จะช่วยให้ได้ผลดี ซึ่งในรายที่สักตื้น ๆ การกรอผิว มากกว่าสองครั้งสามารถให้ได้ผลดีแผลเป็นน้อย ซึ่งในการทำครั้งที่สอง ควรจะรอประมาณ 3 ถึง 6 เดือน

การลอกด้วยสารเคมี (CHEMICAL PELING) : มักใช้กรดบางชนิด หรือสาร PHENOL ทำให้เกิด เป็นรอยแผลไฟไหม้ขึ้นบริเวณรอยสัก แต่วิธีนี้มักจะมีผลแทรกซ้อนสูง จึงไม่ค่อยใช้กัน

การสักเพิ่มขึ้น (OVERTATTOOING OR RETATTOOING)

การลบด้วยไฟฟ้า (ELECTRIC CAUTERY)

การลบด้วยเครื่องเลเซอร์ (LASER BEAM) : ที่นิยมใช้กันได้แก่ Q-SWITCHEDND-YAG และ Q-SWITCHED RUBY LASER ซึ่งมักจะได้ผลดีในรายที่เป็นสีน้ำเงิน และดำ ซึ่งวิธีนี้ได้ผลดี และมีผล ข้างเคียงเช่นกัน ได้แก่ ผิวหนังเป็นรอยริ้ว หรือเป็นรอยด่างขาว

ไม่มีวิธีการลบรอยสัก วิธีใดที่ได้ผลดีเลิศร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งแต่ละวิธีก็มีผลข้างเคียงแตกต่างกันไป ดังนั้นควรพิจารณาปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมเป็นกรณีไป

ข้อมูลจากแผนกศัลยกรรม รพ.ไทยนครินทร์

ป้ายกำกับ

รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้และเคล็ดลับสุขภาพ ข้อมูลโดยแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ

Recent Posts

Categories

Text Widget

health and care 2day รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ การดูแลรักษาสุขภาพ สาระน่ารู้เรื่องสุขภาพ เพื่อคนรักสุขภาพอย่างคุณ

Blog Archive