วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ข้อควรระวัง 5 ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ตับของคุณพัง



ในปัจจุบันการป้องกันสุขภาพที่เรามักพบเห็นก็คือการพยายามดูแลตนเองทั้งออกกำลังกาย ทานอาหาร - วิตามินเสริม ฯลฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตามน้อยคนที่จะคิดถึงอวัยวะสำคัญอย่าง "ตับ" ทั้งๆ ที่ตับเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างมาก


เพราะตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดภายในร่างกาย รวมทั้งยังมีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เป็นต้นว่า สร้างโปรตีนและสารหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น สร้างน้ำตาลกลูโคส กรดอะมิโนและโปรตีน ไขมันทั้งไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ทำให้วิตามินทำงานได้ดีขึ้น และเป็นแหล่งสะสมวิตามินหลายชนิด สร้างน้ำดีหรือน้ำย่อยที่จำเป็นในการย่อยอาหาร รวมทั้งทำหน้าที่ในการดูดซึมไขมันและวิตามินชนิดละลายในน้ำมัน สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัว และฮอร์โมนบางชนิด กำจัดหรือทำลายสารพิษหรือสารแปลกปลอมที่อาจหลุดผ่านเข้าไปในกระแสเลือด มีบทบาทสำคัญต่อภูมิต้านทานของร่างกาย ควบคุมการเผาผลาญ รวมทั้งยังทำลายหรือทำให้ยาต่างๆ ออกฤทธิ์ดีขึ้น

ขอบข่ายที่ตับรับผิดชอบจึงมากมายหลายส่วน ด้วยเหตุนี้ เมื่อตับผิดปกติหรือทำงานไม่ปกติ หากเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตับก็จะฟื้นฟูตัวเองได้ แต่หากต้องเผชิญปัจจัยบั่นทอนอยู่ทุกวันก็อาจทำให้เกิดอันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ตั้งแต่อาการไม่ปกติ ทำให้มีอาการของโรค เกิดอาการเจ็บป่วยในระยะยาว รวมทั้งทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตตามมาได้ เช่น ไขมันแทรกในตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง ไขมันสะสมในตับ และมะเร็งตับ

รู้แบบนี้แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้จักวิธีการสร้างสุขให้กับตับ โดยต้องระวังปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดอันตราย

1. อาหารและน้ำดื่ม จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องได้รับอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบเอซึ่งเกิดจากการกิน เช่น อาหาร ผัดสด ผลไม้ น้ำดื่ม ที่ปนเปื้อน เชื้อนี้ ทำไม่สุก ไม่สะอาด ไม่ต้มเดือด เป็นต้น ส่วนอาหารปกติแล้วเราไม่จำเป็นต้องเลือกกินอาหารเพื่อบำรุงตับ เพียงเราทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลเสียต่อตับ เช่น อาหารที่ปนเปื้อนเชื้ออัลฟาท็อกซิน สารพิษที่ผลิตจากเชื้อรา โดยเราสามารถได้ในเมล็ดธัญพืช โดยเฉพาะในถั่วเมล็ดแห้ง และเมล็ดพืชน้ำมันชนิดต่างๆ พริกแห้ง ฯลฯ ที่มีเชื้อราชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ก่อน งดกินปลาดิบ เพื่อป้องกันพยาธิใบไม้ในตับ ส่วนใครที่มีตับอักเสบหรือตับแข็งระยะเริ่มต้น จำเป็นต้องได้รับอาหารให้ครบทุกหมู่อย่างเพียงพอเพื่อช่วยให้ตับสามารถฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะนี้ เพื่อซ่อมแซมตับคุณหมออาจให้วิตามินเสริม แต่ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาทานเองเป็นอันขาด

2. เลือดและการมีเพศสัมพันธ์ อีกตัวการหนึ่งที่ทำให้เราติดเชื้อไวรัสตับอักเสบก็คือการติด การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี โดยมีคนเป็นพาหะที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยเราพบประมาณร้อยละ 5 โดยเฉพาะจากเลือดและการมีเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ หรือมีดโกนร่วมกับผู้อื่น หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบอยู่ อาจทำให้คุณติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ได้ เมื่อติดเชื้อแล้วอาจจะป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับได้ในที่สุด ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่า

3. ยา ระวังการกินยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจมีผลข้างเคียงต่อตับได้ อย่าลืมว่า เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการกำจัดยาออกจากร่างกาย ดังนั้นการได้รับยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานจะรบกวนการทำงานของตับหรืออาจมีผลอันไม่พึงประสงค์ต่อตับ เมื่อร่างกายได้รับยาบางชนิดในปริมาณสูง หรือติดต่อกันเป็นเวลานานตับก็จะไม่สามารถทำลายได้ทัน เหลือเป็นส่วนเกินและมีฤทธิ์ทำลายเนื้อตับ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตับจนกลายเป็นภาวะตับวายได้ ในปัจจุบัน ยาอันตรายต่อตับที่คนมักมองข้ามเป็นยาใกล้ตัวอย่าง "พาราเซตามอล" ที่อาจเกิดพิษต่อตับ ทั้งในกรณีที่กินในปริมาณมากเกินไป กินเมื่อดื่มตับเริ่มเสื่อมจากการดื่มแอลกอฮอล์ หรือตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะในคนที่ไวต่อพาราเซตา มอล หากกินเกิน 2 กรัมขึ้นไป อาจจะทำให้ตับอักเสบได้ นอกจากนี้ ยังมียาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด และยาปฏิชีวนะ ยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน ยาลูกกลอน ฯลฯ ซึ่งมีการใช้อย่างกว้างขวางและล้วนอันตรายหากกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน

4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับคอทองแดงหรือลำยองอาจจะไม่ค่อยกลัว แต่รู้ไว้เถอะว่า แอลกอฮอล์จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ ในระยะแรกจะทำให้ไขมันสะสมในตับก่อนซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อดื่มนานเข้าจะทำให้เกิด ภาวะตับอักเสบ และเรื้อรังจนเป็นตับแข็ง และอาจทำให้เกิดมะเร็งตับ และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะคนที่ดื่มหนักๆ หรือดื่มมานานแล้วจนเกิดตับอักเสบ ยิ่งหากใครมีโรคไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ร่วมด้วยจะยิ่งเพิ่มอันตรายต่อตับอีกหลายเท่า ทำให้มีโอกาสกลายเป็นโรคตับแข็ง หรือโรคมะเร็งตับได้ง่ายขึ้น แนวทางสำคัญในการป้องกันจึงอยู่ที่การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มแต่ปริมาณน้อยๆ ไม่ดื่มประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามหากเป็นตับอักเสบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำเป็นต้องได้รับอาหารให้ครบทุกหมู่ เพื่อให้สุขภาพฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

5. สารพิษ การได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำก็ทำให้เกิดอันตรา ยต่อตับได้เช่นดียวกัน เช่น สารหนู (arsenic) ที่พบปนเปื้อนในยาหอม ปลาหมึกแห้ง ในอาหาร และสิ่งแวดล้อม หากร่างกายรับเข้าไปมากจะสะสมที่ตับและทำลายระบบการทำงานของตับ ทำให้ตับทำงานหนักและเกิดการอักเสบตามมาในที่สุด

แนวทางการป้องกัน จึงต้องลดความเสี่ยงในปัจจัยที่กล่าวมา รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีคาร์โบโฮเดรตสูงต่อเนื่องในปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้มีไขมันแทรกในตับ และถ้าเป็นไปได้ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบ เพราะก่อนที่ตับจะ "พัง" มันจะไม่มีอาการใดๆ ให้เห็น แนวทางการป้องกันจึงสำคัญที่สุด

กฎเหล็กดูแลตับ

- ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ทานอาหารที่สะอาด
- มีเพศสัมพันธ์ปลอดภัย ไม่สำส่อน
- ไม่ใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น
- ทานยาที่ได้มาตรฐานเมื่อจำเป็น
- หลีกเลี่ยงสารเคมี
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ
- ตรวจสุขภาพร่างกายทุกปี

ที่มา : ชีวอโรคยา
หน้าพิเศษ Hospital Healthcare นสพ.มติชน คอลัมน์ สุขภาพทางเลือกเชิงป้องกัน โดย เจสดาร์
ภาพ: ขอขอบคุณภาพจาก bumrungrad.comhttps://www.bumrungrad.com/

ป้ายกำกับ

รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้และเคล็ดลับสุขภาพ ข้อมูลโดยแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ

Recent Posts

Categories

Text Widget

health and care 2day รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ การดูแลรักษาสุขภาพ สาระน่ารู้เรื่องสุขภาพ เพื่อคนรักสุขภาพอย่างคุณ

Blog Archive