วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

มารู้จัก โรคตาในผู้สูงวัย ว่ามีอะไรบ้าง

มารู้จัก โรคตาในผู้สูงวัย ว่ามีอะไรบ้าง
มารู้จัก โรคตาในผู้สูงวัย ว่ามีอะไรบ้าง
มารู้จัก โรคตาในผู้สูงวัย ว่ามีอะไรบ้าง

โรคตาแห้ง
เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากอายุที่มากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมถึงโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน รูมาตอยด์ ไทรอยด์ ต้อกระจก หรือในคนที่ทำเลสิก ใส่คอนแทคเลนส์มานานเป็นสิบปี นอกจากนี้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิต ก็ทำให้เกิดตาแห้งได้เช่นกัน

อาการโรคตาแห้ง
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตา คันตา ไม่สบายตา หรือตาแดงบ่อยๆ รู้สึกเคืองตา คันตา เมื่อทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ ในบางรายอาจมีน้ำตาไหลตลอดเวลา ซึ่งมักเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยสงสัยเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นตาแห้ง ทั้งนี้เนื่องจากภาวะตาแห้งทำให้มีการระคายเคืองตา เมื่อมีการระคายเคืองเรื่อยๆ จะไปกระตุ้นปฏิกิริยาของร่างกายให้มีการสร้างน้ำตาขึ้นมามาก ดังนั้นสาเหตุของการมีน้ำตาไหลคือตาแห้ง ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องหยอดน้ำตาเทียมเพื่อรักษาอาการน้ำตาไหลที่เกิดเนื่องจากภาวะตาแห้ง

การรักษาโรคตาแห้ง
ผู้ป่วยสามารถเริ่มต้นได้จากการป้องกันดวงตาด้วยตนเอง เช่น กะพริบตาบ่อยๆ ในขณะอ่านหนังสือหรือทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ ใส่แว่นตากันลม หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นและควัน และหยอดน้ำตาเทียม ซึ่งในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีสารกันเสีย ส่วนใหญ่จะใช้ในคนที่เป็นไม่มาก และชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย ใช้ในผู้ป่วยที่ต้องหยอดตาบ่อยๆ

ในกรณีที่ใช้น้ำตาเทียมแล้ว ผู้ป่วยยังมีอาการตาแห้งรุนแรงอยู่ แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการอุดท่อน้ำตาเพื่อลดการระบายออกของน้ำตา ในรายที่เป็นไม่มากอาจใช้การอุดแบบชั่วคราว แต่ถ้าเป็นรุนแรงมากอาจใช้วิธีการอุดแบบถาวร

ต้อกระจก
คือ ภาวะที่เลนส์ตาเกิดการขุ่น (ภาวะปกติจะใส) ทำให้แสงผ่านเข้าตาได้น้อยลง จึงมองเห็นได้ไม่ชัดเจน อาจมีสาเหตุจากอายุ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น เบาหวาน

อาการต้อกระจก
ขึ้นกับความรุนแรงของโรค แล้วแต่ว่าเลนส์ตาขุ่นมากน้อยเพียงใด อาการที่อาจพบได้ เช่น มองเห็นสีทึมๆ ไม่สดใส มองเห็นได้ไม่ชัดเจนเหมือนเคยในที่ที่มีแสงเท่าเดิม มองเห็นภาพซ้อน มองไม่เห็นเมื่อมีแสงจ้าหรือสู้แสงไม่ได้ ขับรถแล้วมองแสงไฟสะท้อนจากรถฝั่งตรงข้ามไม่ได้ เป็นต้น

การรักษาต้อกระจก
ทำได้โดยการผ่าตัดต้อกระจกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน วิธีที่นิยมใช้ในการรักษา คือ การสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวนด์แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไป วิธีนี้ส่วนใหญ่ไม่ต้องเย็บแผล จึงสามารถฟื้นตัวได้เร็ว แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องทำการผ่าตัดแบบที่ต้องเปิดแผลใหญ่ เพื่อเอาต้อกระจกออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งได้ผลดีเช่นกันแต่การหายของแผลจะช้ากว่า

ต้อหิน
เป็นโรคที่มีการทำลายของเส้นประสาทตา โดยส่วนใหญ่เกิดจากความดันในลูกตาสูง จัดเป็นโรคที่เป็นภัยเงียบเพราะสามารถทำให้ตาบอดอย่างช้าๆ ได้

ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงจะเป็นต้อหิน ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหินมาก่อน ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ใช้ยาบางอย่าง เช่น สเตียรอยด์ (การใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ควรใช้ในขนาดและตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น อย่าซื้อยามาใช้เอง เพราะการใช้ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์ต่อเนื่องกันนานๆ อาจทำให้เกิดต้อหินได้)

อาการต้อหิน
ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคต้อหิน เนื่องจากโรคจะค่อยๆ ดำเนินไปอย่างช้าๆ โดยเริ่มจากการมองเห็นที่ลดลงทางด้านข้าง (ยังมองเห็นตรงกลางได้ชัดเจน) จนตาบอดสนิทได้ในผู้ป่วยต้อหินระยะสุดท้าย ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดตาเล็กน้อย เมื่อรับประทานยาก็หาย จึงไม่ได้ให้ความสำคัญ สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันตาสูงมากเฉียบพลัน อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง ตาแดง อาเจียน มองเห็นไฟเป็นดวงๆ กระจัดกระจาย แต่พบกรณีนี้ได้น้อยกว่าผู้ที่มีความดันตาสูงกว่าปกติเพียงเล็กน้อย

การรักษาต้อหิน
ทำได้โดยการรักษาด้วยยาหยอดตาเพื่อรักษาสมดุลของความดันตา โดยอาจจะลดการสร้างน้ำในลูกตาหรือทำให้มีการระบายน้ำมากขึ้น ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการทำเลเซอร์ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาหรือมีอาการรุนแรง แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ทั้งนี้โรคต้อหินหากเริ่มต้นรักษาได้เร็วจะช่วยหยุดความรุนแรงของโรคได้มากขึ้น ถ้าปล่อยไว้จนตาบอดจะไม่สามารถแก้ไขได้

จอตาเสื่อมในผู้สูงวัย
เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของจุดศูนย์กลางของจอตา ซึ่งเป็นจุดรับภาพที่ทำให้เรามองเห็น โรคนี้แบ่งออกเป็นชนิดแห้งและชนิดเปียก โดยชนิดแห้งเป็นชนิดที่พบได้มากกว่า เซลล์ประสาทตาบริเวณจุดรับภาพจะค่อยๆ เสื่อมไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ตามอายุ ใช้เวลานาน จนถึงระยะท้าย ผู้ป่วยจะมองไม่เห็นตรงกลาง แต่จะมองเห็นด้านข้างได้ (ตรงกันข้ามกับต้อหิน) ส่วนชนิดเปียก พบได้น้อยกว่าแต่รุนแรงกว่าชนิดแห้ง เนื่องจากมีการเสื่อมของจอตาร่วมกับมีการสร้างเส้นเลือดผิดปกติใต้จอตา ทำให้จอตาบวมและมีเลือดออกได้ ส่งผลให้ตามัวเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจมองไม่เห็นทันทีได้

ปัจจัยเสี่ยงของจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย ได้แก่ อายุที่มากขึ้น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน (ในรุ่นลูกจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นในอายุที่ลดลงมา เช่น คุณพ่อคุณแม่เป็นเมื่ออายุ 60 ปี ลูกอาจมีโอกาสเป็นในขณะอายุ 50 ปี) ผู้ที่ต้องอยู่กลางแดดนานๆ เช่น วิศวกรที่ทำงานกลางแดดตลอดเวลา ผู้ที่สูบบุหรี่ อ้วน เป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยโรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย
ขึ้นกับชนิดที่เป็น ผู้ป่วยที่เป็นจอตาเสื่อมชนิดแห้ง อาจมาด้วยอาการมองไม่เห็นส่วนกลางของภาพหรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นจอตาเสื่อมชนิดเปียก อาจมีอาการตามัวเฉียบพลัน มองไม่เห็นในทันทีได้

การรักษาจอตาเสื่อมในผู้สูงวัย
เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงมีจุดประสงค์เพื่อยับยั้งไม่ให้โรคดำเนินต่อ ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด วิธีการรักษามีหลายวิธี เช่น การใช้เลเซอร์ทำลายเส้นเลือดที่ผิดปกติ การผ่าตัด วิธีที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การฉีดยาเข้าในน้ำวุ้นตาโดยตรงเพื่อยับยั้งการหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งพบว่าวิธีนี้นอกจากจะช่วยลดการสูญเสียการมองเห็นแล้ว ยังช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นในผู้ป่วยบางรายด้วย แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือ ต้องฉีดยาซ้ำ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการรักษาตามการตอบสนองของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค

เบาหวานขึ้นตา
แม้โรคนี้จะไม่ขึ้นกับความเสื่อมโดยตรงจากอายุ แต่พบว่าเมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานก็มากขึ้น และโรคเบาหวานเองก็เป็นโรคที่ทำร้ายสุขภาพของดวงตาอย่างมาก โดยสามารถทำให้เกิดโรคตาแห้ง ทำให้เกิดต้อกระจกได้มากขึ้น และทำให้มีความเสี่ยงของต้อหินมากกว่าคนปกติ แต่ที่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานคือ เบาหวานขึ้นจอประสาทตา

อาการเบาหวานขึ้นตา
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ บางรายอาจมาด้วยอาการตามัว มองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว เห็นเงาดำลอยไปมา ในรายที่เป็นต้อหินจากเบาหวาน อาจมีอาการปวดตาร่วมด้วย

การรักษาเบาหวานขึ้นตา
แพทย์จะทำการตรวจดูว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติอย่างไรและให้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ผู้ป่วยที่มีเลือดออกหรือจุดรับภาพบวม อาจต้องใช้การรักษาด้วยเลเซอร์หรือฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา ผู้ป่วยที่มีพังผืดดึงรั้งทำให้เกิดการหลุดลอกของจอประสาทตา อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานคือ ต้องพยายามควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและเข้ารับการตรวจตาโดยเร็วที่สุด เพราะการตรวจพบความผิดปกติในระยะแรก จะช่วยลดความสูญเสียของการมองเห็นได้อย่างมาก

โดยสรุป แม้ผู้สูงอายุจะยังไม่พบความผิดปกติของดวงตาก็ควรเข้ารับการตรวจตากับจักษุแพทย์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่มีปัญหาตารุนแรง เช่น เป็นต้อหิน ควรเข้ารับการตรวจบ่อยครั้งกว่าปกติ นอกจากนี้ ในผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ควรปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เช่น งดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก และที่สำคัญที่สุดคือ หมั่นตรวจเช็กดวงตาของตนเองอยู่เป็นประจำ โดยการปิดตาทีละข้าง ดูว่ายังมองเห็นเป็นปกติหรือไม่ เห็นเส้นตรงเป็นเส้นโค้งหรือคดหรือไม่ หรือมีเงาลอยไปมาหรือไม่ ถ้าพบความผิดปกติใดๆ ก็ตามให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพตาที่ดีและมีความสุขกับการมองเห็นที่สดใสได้อย่างยาวนาน

ขอมูลและเรียงเรียงโดย พญ.เมทินี ศิริมหาราช จักษุแพทย์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ป้ายกำกับ

รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้และเคล็ดลับสุขภาพ ข้อมูลโดยแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ

Recent Posts

Categories

Text Widget

health and care 2day รวมบทความสุขภาพ เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ การดูแลรักษาสุขภาพ สาระน่ารู้เรื่องสุขภาพ เพื่อคนรักสุขภาพอย่างคุณ

Blog Archive